อารมณ์ ชัยระงับ ที่ประสบความสำเร็จจากการเป็น "เถ้าแก่เล็กห้าดาว" และยังต่อยอดสู่การเป็นผู้ถ่ายทอดทักษะให้กับผู้ "เถ้าแก่เล็ก" รุ่นใหม่ เริ่มต้นเล่าที่มาของอาชีพว่า เริ่มทำอาชีพค้าขายมาตั้งแต่อายุ 21 ปี จากการเปิดร้านขายข้าวขาหมูที่เชียงราย กระทั่งย้ายถิ่นฐานมาปักหลักที่กรุงเทพเพื่อช่วยญาติดูแลร้านแฟรนไชส์ไก่ทอด เวลานั้นก็สังเกตเห็นซุ้มไก่ย่างห้าดาวของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ตั้งอยู่ติดกัน จึงเห็นว่ามีการจัดการที่เป็นขั้นตอนและแตกต่างจากแฟรนไชส์ยี่ห้ออื่น เมื่อได้ศึกษาอย่างละเอียดจึงตัดสินใจสมัครมาทำธุรกิจร้านห้าดาวตั้งแต่ปี 2549 เริ่มแรกขายไก่ย่างห้าดาวในพื้นที่ที่บริษัทแนะนำให้ จนเปลี่ยนมาขายที่สโมสรสวัสดิการทหารเรือจนถึงปัจจุบัน
"การเริ่มต้นธุรกิจห้าดาวไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนสูงมาก ตอนนั้นใช้เงินประมาณ 15,000 บาทเท่านั้น เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนสำหรับซื้อวัตถุดิบและค่าเช่าพื้นที่ ส่วนซุ้มทางบริษัทเป็นผู้ออกแบบและช่วยค่าใช้จ่าย เราจ่ายเพียงค่าประกันอุปกรณ์ 3,000 บาทเท่านั้น ทุกคนต้องผ่านการฝึกปฏิบัติจริงประมาณ 5-7 วันและต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานของบริษัท รวมทั้งการประเมินจากครูฝึกก่อน ตลอดระยะเวลาการขายมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทตรวจประเมินการรักษามาตรฐานของซุ้มขายอย่างต่อเนื่อง" อารมณ์ บอก
ด้วยพื้นฐานที่เขาเป็นคนชอบความสะอาดและความเป็นระเบียบอยู่แล้ว เมื่อบริษัทส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจประเมินการรักษาคุณภาพและมาตรฐานของซุ้มห้าดาวเป็นประจำทุกเดือนเขาผ่านการประเมินด้วยคะแนนสูงสุดมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จุดนี้เองทำให้บริษัทเห็นแววและชักชวนเขาให้มาเป็นครูผู้ฝึก "เถ้าแก่เล็กห้าดาว" ที่จะมาเป็นเจ้าของซุ้มห้าดาวรายใหม่ๆ มาตั้งแต่ปี 2550 แม้ตอนแรกเขาไม่ค่อยมั่นใจว่าจะทำได้ แต่ก็ผ่านการฝึกเป็น Trainer กับเจ้าหน้าที่ของบริษัท หลังจากนั้น บริษัทจะส่งผู้ที่สนใจมาฝึกงานที่ร้านทุกเดือน โดยเขาใช้แนวทางการฝึกแบบลงมือทำจริง เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และคำแนะนำจากผู้ที่ผ่านงานจริงเป็นหลัก
"ผมภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนให้เถ้าแก่เล็กใหม่ๆ ได้เริ่มต้นอาชีพได้อย่างเข้มแข็งและตั้งใจจะทำอาชีพเถ้าแก่เล็กห้าดาวนี้ต่อไป เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมาทำให้ผมเห็นว่าเลือกอาชีพถูก การทำธุรกิจห้าดาวช่วยให้ฐานะครอบครัวมีความมั่นคง ทำให้สามารถปลดหนี้เงินกู้นอกระบบที่นำมาใช้ในครอบครัวภายใน 3 ปี มีเงินส่งลูกทั้งสามคนจบการศึกษาและทำงานเลี้ยงตัวเองได้" อารมณ์ บอกด้วยรอยยิ้ม
ขณะที่เถ้าแก่เล็กเนื้อหมูตู้เย็นชุมชน (CP Pork Shop) ที่ทางซีพีเอฟได้เข้าส่งเสริมให้ร้านค้าในหมู่บ้านในชุมชนที่ปกติก็ขายผักขายเนื้อหมูสดให้คนในชุมชนอยู่แล้ว ได้มาร่วมกันสร้างอาหารปลอดภัยให้กับชาวชุมชนด้วยการขายเนื้อหมูที่มีเก็บรักษาคุณภาพสินค้าด้วยระบบความเย็นของตู้แช่ เพื่อยกระดับเนื้อหมูปลอดภัยสู่ผู้บริโภคตั้งแต่ฟาร์ม โรงชำแหละ จุดขายที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ ตามนโยบายของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ละม้อม งัดสันเที๊ยะ เจ้าของร้านขายของชำในตำบลหนองสรวง อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา ที่ตัดสินใจร่วมโครงการฯนี้เล่าว่า เนื่องจากลูกชายกำลังจะเรียนจบปริญญาตรีทำให้มีค่าใช้จ่ายมากการเข้าร่วมโครงการจึงน่าจะช่วยเพิ่มรายได้ได้อีกทางหนึ่ง
"เริ่มแรกมีทีมงานของซีพีมาติดต่อเราโดยตรงเพราะเห็นว่าเราขายของชำขายของสดอยู่แล้ว ตอนนั้นตัดสินใจอยู่สักพักเพราะเราไม่เคยขายแบบนี้ ไม่รู้ว่าชุมชนจะตอบรับแค่ไหน แต่ลูกชายเป็นคนรุ่นใหม่เขาเห็นว่าตู้เย็นจะช่วยให้เนื้อหมูที่ขายมีคุณภาพทำให้คนในชุมชนเราได้กินเนื้อหมูที่สดใหม่ เรียกว่าลูกเป็นแรงบันดาลใจและคอยสนับสนุนเพราะมั่นใจว่าทำแล้วดีแน่นอน เราก็คิดว่าถ้าไม่เริ่มก็ไม่รู้ จึงตัดสินใจร่วมโครงการฯ และขายหมูวันละ 1 ตัวมาตลอด"
ช่วงเริ่มต้นมีพนักงานมาแนะนำวิธีการขาย การจัดสินค้าที่ต้องวางแยกชั้นพวกเนื้อหมูกับเครื่องในต้องไม่ปะปนกัน การดูแลความสะอาดตู้ และจุดขาย พบว่าคนในชุมชนตอบรับและชอบรูปแบบการขายแบบนี้ที่ช่วยสร้างความมั่นใจมากขึ้น หลายคนแม้แต่ตัวละม้อมเองก็สังเกตว่าหมูที่แช่เย็นแบบนี้เวลานำมาทำอาหารรสชาติจะอร่อย มีความชุ่มฉ่ำและเนื้อนุ่มเพราะเหมือนเนื้อผ่านการบ่มมาก่อน ซึ่งพนักงานบอกว่านี่เป็นหลักการที่ถูกต้องในแง่ของการถนอมอาหารด้วยความเย็น
"จุดเด่นที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจคือเนื้อหมูของเราสด สะอาด มีตู้เก็บความเย็น มีกระบวนการขนส่งด้วยรถห้องเย็น มาลงสินค้าลูกค้าเราก็เห็นว่าทำอย่างดีมีการเก็บรักษาสินค้าที่มีมาตรฐาน ด้วยการควบคุมอุณหภูมิตลอดเวลาจนถึงเวลาที่เขามาซื้อ เรียกว่าเป็นกระบวนการที่ดีมาตั้งแต่ต้นจนถึงจุดขายของเราที่ต้องใส่ใจรับไม้ต่อจากบริษัทเพื่อความปลอดภัยในอาหาร ลูกค้าก็สบายใจที่จะซื้อสินค้าของเราไปทำอาหาร
ความสำเร็จในฐานะเถ้าแก่เล็กเนื้อหมูตู้เย็นชุมชนของละม้อมสะท้อนผ่านรายได้ที่มากขึ้น มีอาชีพมั่นคง ทำให้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือการได้เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงอาหารปลอดภัยให้กับชาวชุมชน เช่นเดียวกับเพื่อนเถ้าแก่เล็กในชุมชนอื่นๆ รวมถึงเถ้าแก่เล็กที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูในตลาดสดที่รับสินค้าเนื้อหมูจากซีพีไปจำหน่ายอยู่แล้ว ก็ได้นำนโยบายอาหารปลอดภัยนี้ไปต่อยอดการขายโดยเก็บรักษาสินค้าไว้ในตู้แช่เย็นเช่นเดียวกัน จึงนับเป็นอีกก้าวของการพัฒนาจุดขายเนื้อสัตว์ให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้นอีกด้วย
ทั้ง 2 อาชีพ "เถ้าแก่เล็ก" ที่นำมาบอกเล่าในครั้งนี้ นับเป็นอีกทางเลือกอาชีพของคนยุคใหม่ ที่อยากเป็นนายตัวเองและได้ตามความฝันที่จะมีอาชีพที่มั่นคงสร้างรายได้ยั่งยืน และยังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่ออาหารปลอดภัยให้กับคนไทยอีกทางหนึ่ง.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit