ตลอด 70 ปีที่ครองราชย์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรบนผืนแผ่นดินไทยและกว่าร้อยพันพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งหวังให้
พสกนิกรชาวไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาทิพระราชปณิธานที่จะพระราชทานการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตราษฎร พระราชปณิธานที่จะพัฒนาการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ฉะนั้น การแสดงความจงรักภักดีที่ดีที่สุดของปวงชนชาวไทยนับจากนี้ คือ เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สืบสานพระราชปณิธาน การปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทพระราชดำรัสเพื่อความผาสุกและ ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง
ที่ผ่านมา บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้จัดสร้างตราไปรษณียากรที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาโดยตลอดด้วยความจงรักภักดีรวม 70 ชุด 341 แบบจำนวนพิมพ์กว่า 2 พันล้านดวงโดยล่าสุด ไปรษณีย์ไทยได้จัดนิทรรศการ "9 พระราชปณิธานสืบสานผ่านแสตมป์ของพ่อ" ซึ่งเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงตราไปรษณียากร หรือแสตมป์ที่สะท้อนพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รวม 9 พระราชปณิธานสำคัญ ได้แก่
- การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม กษัตริย์ผู้ทรงงานอย่างหนักเพื่อพสกนิกรชาวไทยนับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ได้มีพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" โดยพระราชปณิธานดังกล่าวได้ถ่ายทอดผ่านภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ที่สง่างามบนดวงตราไปรษณียากรทองชุดกาญจนาภิเษกที่จัดทำขึ้นเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ทรงฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีโดยใช้เทคนิคปั๊มทองคำดุนนูนสุดพิเศษ ทำให้เป็นชุดที่มีมูลค่าสูงที่สุด รวมถึงตราไปรษณียากรชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ซึ่งเป็นภาพพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกรเพื่อดูแลทุกข์สุขของปวงชนชาวไทย โดยแต่ละภาพแสดงความใกล้ชิดกับพสกนิกรอย่างไม่ถือพระองค์
- ความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดการครองสิริราชสมบัติ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชจริยาวัตรอันงดงามด้วยความซื่อตรง ดำรงในสุจริตเที่ยงธรรมในการปกครองประเทศ โดยสะท้อนผ่านดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีซึ่งเป็นหนึ่งในภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่1- 9 บนดวงตราไปรษณียากรชุดดังกล่าว พร้อมภาพพื้นหลังแสดงพระราชกรณียกิจของพระองค์และภาพกรุงเทพมหานคร บริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวังเพื่อเทิดทูนและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ นอกจากนี้มีตราไปรษณียากรชุดอื่นที่แสดงถึงพระราชปณิธานความซื่อสัตย์สุจริต อาทิ ที่ระลึกชุดครบรอบ 60 ปี คณะลูกเสือไทย และชุดที่ระลึก 120 ปี สถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
- ความกตัญญูรู้คุณ พระมหากษัตริย์ยอดกตัญญูต้นแบบของการดูแลพระราชชนนีอย่างไม่ขาดตกบกพร่องแม้จะมีพระราชภารกิจมากมาย อีกทั้งความใกล้ชิดกับครอบครัวตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ซึ่งสะท้อนผ่านภาพพระบรมรูปหมู่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ร่วมกับสมเด็จพระราชชนนี พระเชษฐภคินี และพระเชษฐา บนดวงตราไปรษณียากรชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และมีตราไปรษณียากรชุดที่สะท้อนพระราชปณิธานแห่งความกตัญญูรู้คุณชุดอื่นๆ ได้แก่ ชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ชุดที่ 2 และชุดที่ 3 ซึ่งเป็นภาพตั้งแต่ทรงพระเยาว์กับพระราชบิดา รวมไปถึงพระบรมรูปหมู่ร่วมกับพระราชโอรส และพระราชธิดา
- ความเพียร พระปรีชาสามารถและพระราชอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ทั้งด้านการดนตรี กีฬา ศิลปะ หรือแม้แต่งานช่างไม้ ช่างฝีมือต่างๆ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ล้วนเกิดขึ้นโดยความเพียรเรียนรู้และฝึกฝนจนชำนาญในศาสตร์หลายด้าน พระปรีชาสามารถเหล่านี้ถ่ายทอดบนดวงตราไปรษณียากรชุดที่ระลึก 70 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันคล้ายวันพระราชสมภพ นอกจากนี้ ยังมีตราไปรษณียากรที่เกี่ยวข้องอีกหลายชุด อาทิ ชุดที่ระลึกงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี (ชุด 4) ชุดที่ระลึกงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (ชุด 3) และ ชุดที่ระลึกพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย ล้วนเป็นภาพขณะที่พระองค์ทรงงานด้วยความเพียรวิริยะอุตสาหะทั้งสิ้น
- การทำความดี การปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตลอดรัชสมัย จึงทรงได้รับการยกย่องและเชิดชูพระเกียรติคุณจากหลายๆหน่วยงานทั่วโลก ตราไปรษณียากรชุดที่ระลึกวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2552 จึงเป็นภาพเหรียญรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO ทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมภาพพระบรมสาทิสลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจที่สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผ่านตราไปรษณียากรชุดอื่นๆ ด้วย อาทิ ชุดที่ระลึกวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อปี พ.ศ.2556 ชุดที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554(ชุด 2) ล้วนสะท้อนพระราชกรณียกิจเพื่อความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยทั้งสิ้น
- ความสามัคคี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ แม้ในยามที่ประเทศประสบปัญหาบ้านเมือง แต่พระองค์ทรงนำพาประชาชนคนไทยผ่านพ้นมาได้ด้วยพระบารมี หนึ่งในเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความสามัคคีของคนไทยทั้งประเทศ คือ เมื่อครั้งพระองค์เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี บันทึกไว้บนดวงตราไปรษณียากรชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (ชุด 1) เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ขณะโบกพระหัตถ์ และเป็นแสตมป์ทองคำดวงใหญ่นอกจากนี้ยังมีชุดที่สะท้อนพระราชปณิธานความสามัคคี เช่น ชุดที่ระลึกเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 6 (ชุด 2) ชุดที่ระลึกงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 9 พ.ศ. 2520
- การรักษามรดกความเป็นไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงออกผนวชเพื่อศึกษาและสืบทอดศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติให้สืบต่อไป ซึ่งภาพพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งทรงผนวช ได้ถ่ายทอดผ่านตราไปรษณียากรชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (ชุด 2) ขณะที่ตราไปรษณียากรชุดอื่นๆ อาทิ ชุดที่ระลึก 70 พรรษา ชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา และชุดที่ระลึก 60 ปี ราชาภิเษกสมรส ล้วนแต่เป็นภาพพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ไว้ซึ่งมรดกความเป็นไทย
- การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา กษัตริย์นักพัฒนา พระนามที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกเนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจและโครงการตามแนวพระราชดำริในด้านต่างๆ มากมายที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาประเทศเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และทุรกันดาร พระราชอัจฉริยภาพของพระองค์จึงนำมาถ่ายทอดบนตราไปรษณียากรหลายชุด เช่น ชุดที่ระลึกพระผู้เป็นครูแห่งแผ่นดินสะท้อนถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงสอน และชี้แนะทางแก้ปัญหาต่าง ๆ แก่ภาครัฐและประชาชน รวมถึงพระราชกรณียกิจด้านอื่นๆที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย อาทิ บิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย ในชุดที่ระลึกวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปี 2558ชุดที่ระลึกพระราชอัจฉริยภาพด้านโทรคมนาคม ช่วยพัฒนาระบบของสื่อสารของชาติให้มีขีดความสามารถในการแก้ปัญหาของประชาชน
- เศรษฐกิจพอเพียง ต้นแบบของเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยการนำปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นแนวคิดในการดำรงชีวิตของคนไทย ซึ่งสะท้อนด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงเกี่ยวข้าว บนตราไปรษณียากรชุดที่ระลึกวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 83 พรรษาเมื่อปี พ.ศ. 2554 ตลอดจนสะท้อนผ่านตราไปรษณียากรชุดที่ระลึกการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นตราไปรษณียากรพิมพ์ภาพต่อเนื่องยาวที่สุด จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระอัจฉริยภาพในรัชกาลที่ 9 ผู้พระราชทานแนวคิดทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่สังคมไทยในภาวะวิกฤติรวมไปถึงตราไปรษณียากรชุดที่ระลึก 100 ปี งานวิจัยข้าวไทย เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์คู่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งถือเป็นแสตมป์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ชุดล่าสุดในปี 2559
ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย ยังมุ่งหวังให้นิทรรศการดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนน้อมนำพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต นอกจากแสตมป์ชุดต่างๆ ที่สะท้อนพระราชปณิธานทั้ง 9 แล้ว ยังมีการจัดแสดงแสตมป์ชุดอื่น ๆ ที่เคยจัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วย ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวตั้งแต่วันนี้ ได้จนถึง 31 ธันวาคม 2559 ณ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน(ด้านล่าง สถานี BTS สะพานควาย) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2831 3722, 0 2271 2439 หรือทางเฟซบุ๊กThai Stamp Museum และไลน์stampinlove