เอออน ฮิววิท ร่วมกับศศินทร์ มอบรางวัล 7 องค์กร สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

02 Aug 2016
สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย มีคะแนนความผูกพันพนักงานต่อองค์กรมากกว่าค่าเฉลี่ยขององค์กรทั่วไปถึง 24 คะแนน ความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานเจนวาย (คนที่เกิดระหว่างปี 1979 ถึงปี 1990) ขององค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่น มีคะแนนมากกว่าค่าเฉลี่ยขององค์กรทั่วไปถึง 22 คะแนน
เอออน ฮิววิท ร่วมกับศศินทร์ มอบรางวัล 7 องค์กร สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

89 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานในองค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่น ยินดีแนะนำองค์กรของตนให้กับผู้ที่กำลังมองหางานอยู่ ในขณะที่องค์กรทั่วไปมีเพียง 69 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นองค์กรที่ได้รับรางวัลที่สุดของสุดยอดนายจ้างดีเด่นจากการสำรวจในปี 2016 นี้ คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส

เอออน ฮิววิท ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยรายชื่อ 7 องค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2016

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย ผู้บริหารองค์กรในประเทศไทยจำนวน 54 เปอร์เซ็นต์ ได้ประเมินประเด็นด้าน "บุคลากร" เป็นความท้าทายทางธุรกิจอันดับหนึ่ง ซึ่ง 3 อันดับแรกในความท้าทายเรื่องคนประกอบไปด้วย การปรับตัวขึ้นของเงินเดือน การขาดแคลนผู้สืบทอดตำแหน่งที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารองค์กร ความขาดแคลนผู้ที่มีความสามารถจากตลาดแรงงานภายนอก ซึ่งแม้ว่าจะต้องเจอกับปัญหาที่กล่าวมา แต่เหล่าสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นผู้นำในการบริหารจัดการพนักงานเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจ ซึ่งสะท้อนผ่านข้อมูลการศึกษาในปี 2016 ที่องค์กรสุดยอดนายจ้างดีเด่นสามารถทำกำไรได้มากกว่าองค์กรทั่วไปมากถึง 51 เปอร์เซ็นต์สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี 2559 ได้แก่

องค์กร (เรียงลำดับตามตัวอักษร)

ประเภท

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

ที่สุดแห่งสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

บริษัท แอดวานซ์ คอนแท็ค เซ็นเตอร์ จำกัด

สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

บริษัท อเมริกัน เอ็กซ เพรส (ไทย) จำกัด

สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

บริษัท แมคไทย จำกัด

สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

โรงงานน้ำตาลมิตรผล

สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

บริษัท โรงพยาบาลพญาไท 3 จำกัด

สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด

สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด ยังได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นสำหรับคนเจนวาย ในขณะที่ แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่น จากโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นระดับโลก

ดร.อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอออน ฮิววิท ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูง ได้จัดอันดับปัญหาด้านทรัพยากรบุคคลให้เป็นความท้าทายหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจอันดับต้น ซึ่งโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นที่จัดโดยเอออน ได้ทำให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและผู้นำธุรกิจ หันมาตื่นตัวและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการจัดการทรัพยากรบุคคล โดยให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการพนักงานผ่านการสร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีที่สุด

คุณภานุวัฒน์ เบ็ญเราะมาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอออน ฮิววิท ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ส่วนสำคัญในการเพิ่มความผูกพันพนักงานคือการส่งมอบประสบการณ์การทำงานที่ยอดเยี่ยมให้แก่พวกเขา เห็นได้จากในยุคปัจจุบันที่มีผู้ใช้เวลาเฉลี่ย 2.5 ชั่วโมงต่อวันบนเครื่องมือสื่อสาร ดังนั้นพนักงานจึงอาจเริ่มคาดหวังที่จะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่เพิ่มความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารกับหัวหน้างานด้วยเช่นกัน ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิตอลในด้าน HR จึงไม่ใช่เรื่องที่หรูหราหรือสิ้นเปลืองอีกต่อไป แต่ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ซึ่งเหล่าสุดยอดนายจ้างดีเด่นของประเทศไทยก็สามารถดำเนินการระบบดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารงานบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ทำงานร่วมกับเอออน ฮิววิท พบว่าแนวโน้มการบริหารบุคคลมีวิวัฒนาการสำคัญใน 3 ประเด็นคือ เปลี่ยนจากการทำงานสนับสนุนเน้นงานธุรการเชิงรับมาเป็นหุ้นส่วนกลยุทธ์เชิงรุกที่ CEO และผู้บริหารทุกแผนกต้องมาทำงานเป็นทีมกับแผนก HR เพื่อสร้างเอกภาพแห่งความเป็นเลิศด้านการบริหารคน เปลี่ยนจากการบริหารคนในมุมมองแคบๆ เป็นสหวิทยาการที่ผสมผสานหลักวิชาการบริหารด้านการตลาด การเงิน การปฏิบัติการและเทคโนโลยีสื่อสารเข้ากับทฤษฎีการบริหารคนเพื่อตอบรับกับโลกธุรกิจ และตลาดแรงงานที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายคือเปลี่ยนมาตรฐานจากการทำงานในระดับท้องถิ่นเป็นระดับโลกาภิวัฒน์เพื่อก้าวทันมาตรฐานโลก