ในภาพรวม สวอนเลคเป็นการรวบรวมองค์ประกอบทางศิลปะหลากหลายแขนงเข้ามารวมไว้ด้วยกัน นับแต่เนื้อเรื่องเชิงสัญลักษณ์ที่ถือกันว่า "หงส์"เป็นสัตว์ที่แสดงความเป็นสตรีเพศได้อย่างเป็นอุดมคติที่สุด หงส์ยังเต็มไปด้วยความสง่างาม, ลึกลับและแฝงไว้ด้วยอำนาจ นอกจากนี้หงส์ยังเป็นสัตว์เสมือนสัตว์ลึกลับที่อยู่ในตำนานอันเก่าแก่ของชนชาติ-เผ่าพันธุ์ต่างๆทั่วโลก ซึ่งเค้าโครงนิทานเรื่อง หงส์แปลงร่าง หรือหงส์ต้องคำสาป อันเป็นที่มาของบัลเลต์เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบถึงต้นกำเนิดอันแท้จริง
นอกจากเค้าโครงเรื่องอันแสนจะคลาสสิกนี้แล้ว ฉากและท่าเต้นบัลเลต์เรื่องสวอนเลคยังสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมทุกครั้งที่ได้ไปชมการแสดงจริงๆ อย่างที่ไม่สามารถชดเชยได้จากการชมสื่อผลิตซ้ำทั้งหลาย ภายในห้องรับแขกที่บ้าน ทั้งฉากในป่าอันลึกลับและฉากในวังอันอลังการ ท่าเต้นบัลเลต์ที่ต้องใช้สุภาพสตรีรูปร่างดีๆเหมือนๆกันนับสิบคน แต่งกายในร่างของ "หงส์จำแลง"สีขาวบริสุทธิ์ ซึ่งดูเสมือนการแต่งกายสำหรับการแสดงบัลเลต์ที่งดงามและคลาสสิคที่สุดสำหรับการแสดงศิลปะแขนงนี้ ฉากของฝูงหงส์(จำแลง) ซึ่งดูผ่านไปกี่ครั้งก็ยังความรู้สึกตื่นตลึงได้ราวกับความฝันราวกับนักแสดงเหล่านั้นมิใช่มนุษย์
และสำคัญที่สุดในประการสุดท้ายก็คือ ดนตรีประกอบบัลเลต์เรื่องนี้ ที่ประพันธ์โดย ดุริยกวีเอกของโลกชาวรัสเซีย ปีเตอร์ อิลยิช ไชคอฟสกี ซึ่งได้ประพันธ์ขึ้นในปี ค.ศ.1875-1876 อันนับเป็นการเปิดศักราชใหม่สำหรับวงการบัลเลต์แห่งรัสเซียอย่างแท้จริง ก่อนหน้านี้มีนักประพันธ์ดนตรีประกอบบัลเลต์แห่งราชสำนักรัสเซียอยู่บ้าง อาทิเช่น เชซาเร ปุงงิ (Cesare Pugni), ริคาร์โด ดริโก(Ricardo Drigo) หรือ ลุดวิก มิงกุส (Ludwig Mingus) ที่ได้ประพันธ์ดนตรีประกอบบัลเลต์อันไพเราะไว้ไม่น้อย แต่เมื่อมาถึง "สวอนเลค" ไชคอฟสกีสามารถทำให้พัฒนาการของดนตรีประกอบบัลเลต์มีพัฒนาการแบบจริงจัง และก้าวกระโดดไปเทียบอย่างใกล้เคียงกับดนตรีซิมโฟนีบริสุทธิ์ในคอนเสิร์ตฮอลเลยทีเดียว ถือได้ว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงอันมีนัยสำคัญของดนตรีประกอบบัลเลต์ในศตวรรษที่19
ดนตรีประกอบบัลเลต์เรื่องสวอนเลคใช้วงซิมโฟนีออร์เคสตราขนาดใหญ่เต็มอัตราเสมือนกับการบรรเลงบทเพลงซิมโฟนีอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ไชคอฟสกีศึกษาถึงข้อดี-ข้อด้อยของดนตรีประกอบบัลเลต์ในยุคก่อนๆและมาตกผลึกก่อนที่จะเขียนดนตรีประกอบบัลเลต์เรื่องแรกของเขา เรื่องนี้การจำแนกเสียงสำหรับเครื่องดนตรีจะให้เสียงดนตรีที่ยิ่งใหญ่อลังการ ให้เฉดสีสันทางเสียง(Tone Colour) อย่างเจิดจ้าแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน แนวทำนองต่างๆที่เต็มไปด้วยความไพเราะแบบที่ผู้ชมสามารถจดจำได้ขึ้นใจโดยง่ายดาย โดยเฉพาะแนวทำนองหลัก(Swan Theme) ที่บรรเลงโดยปี่โอโบ (Oboe) อย่างโหยหวน บรรเลงซ้ำตามมาด้วยกลุ่มเครื่องสายอันหวานฉ่ำและกลุ่มแตรอันยิ่งใหญ่ และใจความจากแนวทำนองหลักนี้ (Motif) ยังหวนย้อนกลับมาให้ได้ยินตลอดทั้งเรื่องในรูปแบบต่างๆ อันเป็นเทคนิคที่ ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) ได้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพในศิลปอุปรากรสำนักเยอรมันของเขา หลังจากดนตรีประกอบบัลเลต์เรื่องสวอนเลค ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ต้องถือได้ว่าดนตรีประกอบบัลเลต์เปลี่ยนแนวคิดไปสู่ความสูงส่งและความทะเยอทยานในอีกระดับหนึ่งอย่างแท้จริง
สวอนเลคจึงถือเป็นบัลเลต์เรื่องแรกที่ใช้ความมานะพยายามทุ่มเทสูงสุดในทุกๆด้านเท่าที่เคยมีมา รวบรวมไว้ซึ่งสุดยอดแห่งศิลปะในทุกๆแขนงไม่ว่าจะเป็น บทที่มีเค้าโครงเรื่องอันแสนจะคลาสสิก,การแต่งกาย,ฉาก และดนตรีที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาการของดนตรีประกอบบัลเลต์ไปอย่างไม่มีการย้อนกลับ ถือเป็นประสบการณ์ทางศิลปะครั้งสำคัญในชีวิตที่ได้ชมการแสดงบัลเลต์เรื่องนี้ โดยเฉพาะการแสดงโดยคณะนักแสดงจากสำนักรัสเซียโดยตรง ซึ่งถือเป็นคณะศิลปินผู้สืบทอดศิลปบัลเลต์รัสเซียโดยสายเลือด (อันเป็นที่รับรู้กันอยู่เสมอๆว่าบัลเลต์รัสเซียเป็นคู่แข่งอันสำคัญของบัลเลต์สำนักฝรั่งเศสที่มีความภาคภูมิใจมายาวนาน)
การแสดงในครั้งนี้จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 8 และวันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ.2559 เวลา 19.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดย คณะบัลเลต์ มอสโคว์ สตานิสลาฟสกี บัลเลต์ (The Moscow Stanislavsky Ballet) อันประกอบไปด้วยนักเต้นบัลเลต์กว่า 90 ชีวิต ที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีในจำนวนนี้ยังประกอบไปด้วย ผู้พิชิตรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันอีก 11 คน เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพ ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก ร่วมด้วยวงซิมโฟนีออร์เคสตราสายพันธุ์รัสเซียแท้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit