ซึ่งผลสำเร็จจากการทำงานของกลุ่มเยาวชนในโครงการปลุกพลัง...ฅนรักนาเกลือ ก็ทำให้หลายภาคส่วนสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และวันนี้เป็นอีกโอกาสดีที่พวกเขาจะได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่มเยาวชนจากแดนไกลที่เดินทางข้ามทวีป เพื่อมาเรียนรู้ภูมิปัญญาและความเป็นไทยภายใต้โครงการ American Youth Leadership Program (AYLP) หรือโครงการพัฒนาภาวะผู้นำเยาวชนอเมริกัน
โดย จิมมี่-ธีรเมธ เสือดูมี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา หนึ่งในแกนนำเยาวชนโครงการปลุกพลัง ...ฅนรักนาเกลือ ได้มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ร่วมกับทีมผู้ใหญ่จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกลือสมุนไพร ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
นายพะยง ศรีทอง ผู้ประสานงานโครงการดังกล่าวเล่าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมว่า "โครงการAmerican Youth Leadership Program ดำเนินการโดยสถาบัน Mansfield center มหาวิทยาลัยมอนทาน่า ได้การสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่ร่วมโครงการนี้ และจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 สำหรับโครงการมีนี้วัตถุประสงค์เพื่อสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ของอเมริกัน ที่มีความเข้าใจโลกภายนอก เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างจากอเมริกัน ผ่านกระบวนการในการทำเวิร์คช็อปและศึกษาดูงานในประเทศไทย 3 สัปดาห์" นายพะยง กล่าวต่อถึงเหตุผลที่ทางโครงการ AYLP เลือกนาเกลือเป็นแหล่งความรู้แก่นักศึกษา เพราะสอดคล้องกับประเด็นการทำค่ายพัฒนาเยาวชนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีผลต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ ซึ่งเกลือเป็นส่วนหนึ่งของระบบอาหารของคนไทย และมนุษยชาติ ทว่าคนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยรู้ที่มาของเกลือ และเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แต่ชุมชนก็ยังมีความพยายามในการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด
อีกประเด็นคือกระบวนการสร้างเยาวชนให้ตระหนักถึงคุณค่าของนาเกลือ เห็นความสำคัญของภูมิปัญญาพื้นบ้าน และลุกขึ้นมาทำงานร่วมกับพ่อแม่ที่มีอาชีพทำนาเกลือ ซึ่งสามารถแตกยอดในการจัดการผลผลิตเกลือ โดยมีเยาวชนมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง จนส่งผลถึงการสืบทอดการทำนาเกลือ การยกสถานะของนาเกลือให้มีคุณค่ามากขึ้น รวมทั้งส่งผลถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน จากการเพิ่มมูลค่าที่หลากหลายให้กับเกลือ ด้วยกระบวนการทำงานร่วมกันของคนในชุมชน ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า
ด้าน จิมมี่ ได้ถ่ายทอดถึงกระบวนการทำงานในโครงการที่ผ่านมาว่า สิ่งที่เขาทำคือการลงไปศึกษาชุมชน และต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่า แล้วชักชวนเด็กๆ ในชุมชนมาเรียนรู้นาเกลือ เชิญชวนผู้ใหญ่คนที่ทำนาเกลือมารวมกลุ่มเพื่อความเข้มแข็งในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ และขยายผลเรื่องนาเกลือสู่หลักสูตรการเรียนรู้ในโรงเรียน ส่วนสถานการณ์ตอนนี้ยังพบการบุกรุกพื้นที่นาเกลือ และราคาเกลือที่ตกต่ำ เพราะผลผลิตล้นตลาด ซึ่งแก้ปัญหาด้วยการนำมาทำเกลือสปาและต้องหาทางเพิ่มเติมต่อไป
ทาง Jillian Leigh Topsky หนึ่งในนักศึกษาแลกเปลี่ยนผู้มาดูงาน กล่าวถึงความรู้สึกของตัวเองว่า "การมาประเทศไทยครั้งนี้เป็นครั้งแรกของฉัน มีหลายสิ่งที่ทำให้ฉันประหลาดใจ ทั้งผู้คนและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ฉันสนใจวิถีชีวิตของชาวบ้าน การทำผลิตภัณฑ์จากเกลือ และการทำกิจกรรมที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของคนที่นี่"
นอกจากถ่ายทอดความรู้แล้ว จิมมี่กล่าวเพิ่มถึงความสำคัญที่โครงการของพวกเขาต้องถ่ายทอดความรู้แก่เด็กๆ ในพื้นที่ว่า "สิ่งที่จะทำให้นาเกลือยังคงอยู่ได้ คือการให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เขานำความรู้ไปเผยแพร่ต่อ และการปลูกจิตสำนึกเรื่องคุณค่าของอาชีพนาเกลือ รวมทั้งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาการทำนาเกลือ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ไม่ละทิ้งนาเกลือ"
หลังการศึกษาดูงานจบลง จิมมี่กล่าวทิ้งท้ายถึงความรู้สึกที่ยังกลับมาเป็นวิทยากรเรื่องนาเกลือ เนื่องจากเคยทำโครงการนี้ และเป็นลูกหลานของชาวนาเกลือ เมื่อมีคนอยากมาเรียนรู้ที่บ้านตัวเองก็ยินดีที่จะมาถ่ายทอด และในชีวิตปัจจุบันที่แม้โครงการเสร็จสิ้น เขาก็ยังนำเรื่องนาเกลือไปบอกต่อให้เพื่อนในมหาวิทยาลัยรู้จัก และใช้ทำวิจัยในวิชาเรียน กระทั่งอาจารย์ผู้สอนสนใจและคิดจะพานักศึกษาคนอื่นมาเรียนรู้ดูงานที่นาเกลือเช่นกัน
และนี่คงเป็นสายใยสำคัญของกระบวนการลงไปเรียนรู้ชุมชนของโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกที่ยึดโยงคนรุ่นใหม่กับบ้านเกิด ให้เขากลายเป็นพลเมืองผู้มีหัวใจรักในท้องถิ่น ที่ไม่ว่าจะเดินทางออกจากบ้านไปไกลเท่าไร ก็พร้อมอาสากลับมาดูแลบ้านเกิดอยู่เสมอ
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit