นายวีระ โรจน์พจนรัตน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูง วธ. หลังจากผลการ
ลงประชามติเห็นชอบ
ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในการลงประชามติเมื่อวันที่ 7
สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งวธ. ได้จัดประชุมหารือผู้บริหารเพื่อเตรียมการดำเนินงานรองรับการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงเตรียมพร้อมขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ โดยจะเร่งการรณรงค์ส่งเสริมความเป็นไทยสู่ใจประชาชนและผลักดันการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และภาพลักษณ์ของประเทศด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์รมว.วธ. กล่าวต่อว่า จากการหารือและสรุปข้อมูลที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการประชามตินั้นมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงานด้านศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ 11 มาตรา อาทิ เรื่องสิทธิและเสรีภาพด้านศาสนา และศิลปวัฒนธรรมตามมาตรา 27,31,37,43 เรื่องหน้าที่ของปวงชนชาวไทย และตามมาตรา 52 รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ ความสงบสุขของประชาชน ตามมาตรา 57 รัฐต้อง (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ (2) อนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการและใช้หรือจัดให้มีประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและ ชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วมดำเนินการ เป็นต้น และในส่วนของเรื่องแนวนโยบายพื้นฐาน แห่งรัฐ อาทิ ตามมาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ตามมาตรา 70 รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิม เป็นต้น นอกจากนี้ วธ. ยังได้มีการหารือเพื่อเตรียมพร้อมขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศด้านศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม อีก 3 มาตรา คือมาตรา 65, 258,259
รมว.วธ. กล่าวว่า ในเบื้องต้น วธ. จะขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อเตรียมการปฏิรูปให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในระยะ 2 ปีนี้ 2 เรื่อง ได้แก่ เร่งการรณรงค์ส่งเสริมความเป็นไทยสู่ใจประชาชน และผลักดันการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และภาพลักษณ์ของประเทศด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รวมทั้งเตรียมพิจารณาทบทวนและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และปรับระบบบริหารจัดการรองรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย โดยจะนำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูง วธ.และถ่ายทอดการประชุมผ่านระบบ VDO Conferences ไปยังหน่วยงานในสังกัดในส่วนภูมิภาคเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานดังกล่าว
อย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ได้กำหนดสิทธิ เสรีภาพ รวมถึงหน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายแห่งรัฐด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น การขับเคลื่อนงานดังกล่าวจำเป็นต้องมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาชนในลักษณะการสานพลังประชารัฐ จึงจะทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จและยั่งยืน ที่กำหนดไว้ว่ารัฐต้องอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียบและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และต้องจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในประเด็นการเปิดพื้นที่สาธาณะนั้น ช่วงที่ผ่านมา วธ. ได้นำร่องเรื่องดังกล่าวมาเบื้องต้นแล้ว อาทิ โครงการ ณ สยาม ตลาดนัดศิลปะ ถนนสายวัฒนธรรม การเปิดพื้นที่ให้สมาคมศิลปินพื้นบ้านทั่วประเทศมีพื้นที่แสดงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างชัดเจนในปีงบประมาณ 2560 วธ.จะเน้นเรื่องการเปิดพื้นที่ให้มีความเข้มเข้นและขยายพื้นที่ไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ