ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นประธานในการ ลงนามความร่วมมือครั้งนี้ กล่าวว่า สิ่งสำคัญ คือ ภารกิจที่จะต้องทำต่อจากนี้เป็นต้นไป ซึ่งจากผลงานที่ได้ ชมการสาธิต และการจัดแสดง สิ่งที่เราเรียกกันว่าน้ำยางพารา สามารถนำมาแปรรูปไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ การนำยางพารามาทำเป็นถนนยางพาราดินซีเมนต์ ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจมาก เพราะมีต้นทุนต่ำแต่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำและแนวทางในการระบายสต็อกยางได้อีกทางหนึ่ง จึงควรมีการพัฒนายกระดับความร่วมมือให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมต่อไป เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความต้องการเส้นทางคมนาคมโดยเฉพาะทางหลวงชนบท ส่วนใดที่สามารถใช้วัสดุภาย และนวัตกรรมภายในประเทศได้ ก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องส่งเสริม โครงการฯ นี้ เห็นได้ว่าเป็นความร่วมมือทั้งจากภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และภาคประชาสังคม ในการร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อยกระดับราคายางพาราให้สูงขึ้น และเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้
ด้าน ดร.พินิจ จารุสมบัติ ในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือนี้เป็นการร่วมมือที่มีคุณค่า สร้างคุณูปการให้แก่เกษตรกรรากหญ้า และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนานวัตกรรมยางพารา ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ และยังพัฒนาไปถึงตลาดการส่งออก โดยประเทศไทยมีโรงงานผลิตยางรถยนต์ที่ทันสมัยที่สุดในระดับต้นของโลก สามารถส่งออกไปประเทศอเมริกาได้ถึงปีละ 12 ล้านเส้น ซึ่งเปลี่ยนภาพจากเกษตรกรที่ขายน้ำยาง ขายยางดิบ ขายยางแผ่น เปลี่ยนมาขายล้อยางรถยนต์ มาเป็นถนนแทน ซึ่งถือเป็นความหวังของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก
ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระ นครเหนือ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนบุคลากร นักวิชาการ นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านยางพารา อาทิ เช่น นวัตกรรมควบคุมคุณภาพของยางพารา การบริหารจัดการวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูประบบขนส่ง และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนางานวิจัยที่นำไปใช้ได้จริงกับเกษตรกร การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปยางพารา รวมถึงอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และร่วมจัดตั้งคณะกรรมการร่วมไตรภาคี เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราในพื้นที่ประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล
ด้าน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางมากขึ้น การนำยางไปแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยางล้อ ถุงมือ ฯลฯ แต่ ณ วันนี้เรามองเห็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น "ถนนยางพาราซีเมนต์" ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นโอกาสในการใช้น้ำยางพาราสด และยางอัดแท่งต่างๆ มาแปรรูปและทำประโยชน์ได้มากขึ้น โดยได้มีการพัฒนารูปแบบการใช้งานมาระยะเวลาหนึ่ง จากเดิมใช้ยางพารา ในสัดส่วนน้อย แต่ตอนนี้มีการใช้ยางพาราในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยใน 1 กิโลเมตรใช้ยางพาราไปถึง 12 ตัน ทำให้ยางพาราถูกนำมาใช้มากกว่าเดิม เป็นเป้าหมายที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพทางราคายางพารา และเกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง บทบาทของ กยท. นั้นคือการส่งเสริมและสนับสนุนให้ความร่วมมือในเชิงวิชาการ และร่วมกันตั้งคณะกรรมการในระดับไตรภาคี เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาแนวคิดสู่การปฏิบัติได้จริง การจัดหาทุนในการสนับสนุน การจัดหาบุคลากร จัดหาวิธีการที่นำไปสู่การใช้ได้จริง การออกมาตรฐาน และนำยางพาราไปใช้ ในหลายหน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการ ใช้ยางภายในหน่วยงานภาครัฐ ส่วนของการดำเนินการความร่วมมือที่จะทำการเดินหน้าต่อ คือ การพูดคุยเลือกพื้นที่เป้าหมาย ซึ่ง กยท. มีกำลังในการผลิตน้ำยางและสามารถรวบรวมน้ำยางจากเกษตรกรในพื้นที่ได้
นอกจากนี้ ในส่วนของ กยท. ยังมีงานวิจัยออกมาหลายตัว คือ การนำยางพาราไปแปรรูปเป็นหมอนยางพารา ที่นอนยางพารา ฯลฯ ล่าสุด ได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานทางทหารที่จะนำเอายางพาราไปใช้ทดแทนในสินค้าหลายๆ ตัวที่เป็นสินค้านำเข้า ในโอกาสนี้ขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่มีศักยภาพในการนำยางพารามาขยายโอกาส และสร้างผลผลิตอื่นๆ เช่นการนำยางพารามาใช้ในการรองรับพื้นถนน หรือการนำยางพาราไปผสมกับยางมะตอยเพื่อลาดในพื้นถนน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมเกษตรกรของเราได้เป็นอย่างมาก เรามุ่งเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรนำยางพาราเข้าสู่กระบวนการแปรรูปมากขึ้น เพื่อให้มีการส่งเสริมการใช้ยางในภาครัฐ และภาคเอกชน นวัตกรรมใหม่ถือเป็นทางออกของอุตสาหกรรมยางพาราในอนาคต
ด้าน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า อยากให้มีการ จัดงานสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องการวิจัย และพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยนำเอานักวิจัยและเกษตรกรมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้การดำเนินงานวิจัย และความต้องการของเกษตรกรไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง และเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือบันทึกข้อตกลงฉบับนี้
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit