สค.จับมือท้องถิ่นและภาคีรวมพลังเคลื่อนการพัฒนาครอบครัว หนุนศูนย์พัฒนาครอบครัวชุมชนทำงานบูรณาการข้อมูลและแผนงานตามนโยบายรัฐ เน้นช่วยเหลือครอบครัวยากลำบากตามโจทย์พื้นที่อย่างเป็นระบบ

05 Mar 2016
เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมานี้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้ร่วมกับสถาบันรามจิตติร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์พัฒนาครอบครัวชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล และประชาคมท้องถิ่น จัดกิจกรรมชุมชนสัญจรลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของเครือข่ายภาคีเชิงพื้นที่ในจังหวัดนำร่องในการเชื่อมต่อข้อมูลและการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว โดยมีลักษณะเป็นการดำเนินการเพื่อการติดตามการพัฒนาแผนการดำเนินงานและการทำความเข้าใจในกิจกรรมเชิงพื้นที่ใน 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดระยอง จังหวัดราชบุรี และจังหวัดพังงา โดยมีหน่วยงานภาคีทั้งสาธารณสุขจังหวัด รพสต. อสม. กำนันผู้ใหญ่บ้าน สถานศึกษา เครือข่ายครอบครัวในชุมชนต่างๆ กว่า 50 แห่งเป็นแนวร่วมขับเคลื่อนการทำงานพัฒนาครอบครัว เน้นยุทธศาสตร์การทำงานบนฐานเชื่อมต่อข้อมูลและการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว

นางอัจฉรา พุ่มมณีกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านครอบครัว กรมสตรีและสถาบันครอบครัวชี้ว่า ปัจจุบัน สค. ได้ปรับแผนปรับภารกิจหลายเรื่อง โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนการทำงานผ่านการมีข้อมูลในการช่วยตัดสินใจ "การดูแลช่วยเหลือครอบครัวในชุมชนเป็นภารกิจสำคัญของ ศพค. เพราะสิ่งสำคัญกว่านั้นก็เหมือนเป็นครอบครัวของเราเช่นกัน" เพราะมองว่า งานด้านส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว หากปล่อยให้เป็นภาระของครอบครัวเพียงหลายแบบ ล่าสุด สค. ได้สนับสนุนการทำงานโครงการพัฒนากลไกการเชื่อมต่อข้อมูลและการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ตามนโยบายของรัฐ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ซึ่งมีดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ เป็นที่ปรึกษาโครงการมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เป็นหน่วยประสานความร่วมมือระดับจังหวัดและ "ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.)" เป็นจุดประสานจัดการเพื่อการขับเคลื่อนการทำงานระดับพื้นที่ชุมชน ผ่านกระบวนการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างสังกัด อาทิ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว บุคลากรของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข สถานศึกษา ชุมชน เป็นต้น

ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ที่ปรึกษา กล่าวว่า สภาวการณ์ของครอบครัวในกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มีสภาพปัญหาและความต้องการการช่วยเหลือดูแลแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์และแนวโน้มที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ที่ไม่เหมือนกันข้อมูลเชิงลึกของชุมชนกว่า 25 แห่งในจังหวัดนำร่องชี้ให้เห็นแนวโน้มของครอบครัวยากจนด้อยโอกาสที่มีอยู่ไม่น้อย ครอบครัวที่มีแนวโน้มเผชิญความรุนแรงในครอบครัวหรือใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ครอบครัวผู้พิการ รวมถึงครอบครัวที่มีผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือดูแลจนถึงกิจกรรมพัฒนาที่เหมาะสมกับวัย ครอบครัวที่มีลักษณะเฉพาะเช่น ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวที่มีเยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยง เป็นต้น สภาพครอบครัวในแต่ละพื้นที่ต่างชี้ให้เห็นโจทย์การทำงานพัฒนาครอบครัวที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในชุมชนมาร่วมการขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งในแง่ของการเชื่อมโยงข้อมูลตามสภาพจริงของพื้นที่เพื่อมาออกแบบและหาเครื่องมือช่วยในการพัฒนาครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้ร่วมกับ สค. พมจ. อบต. ศพค. ในพื้นที่ต่าง ๆ ใน 5 จังหวัด 5 ภูมิภาค ได้มีการลงพื้นที่ติดตามความเคลื่อนไหวการทำงานในการพัฒนาแผนการทำงานด้านครอบครัวยากลำบาก พบว่า 1) แต่ละจังหวัดมีเคลื่อนตัวเกี่ยวกับการทำงานด้านข้อมูลเพื่อการพัฒนาแผนการดำเนินงานช่วยเหลือครอบครัวยากลำบาก ทั้งในแง่การสำรวจสถานการณ์ครอบครัว การอาศัยข้อมูลทั้งที่มีการเก็บข้อมูลอยู่เดิมในระบบต่าง ๆ เช่น จปฐ. ข้อมูลครอบครัว รวมถึงการเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ที่มี เช่น ร่วมมือกับอสม. รพสต. หรือข้อมูลของชุมชนต่างๆ มาประกอบการทำงาน ซึ่งนำไปสู่การวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการการช่วยเหลือหรือการดูแลครอบครัวในกลุ่มต่าง ๆ และรวมถึงครอบครัวยากลำบากในลักษณะต่าง ๆ 2) การวางแผนการช่วยเหลือครอบครัวยากลำบาก ซึ่งจะมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ตั้งโจทย์ ออกแบบการทำงานพร้อม ๆ กับหาเครื่องมือ ภาคีและกลไกสนับสนุนการทำงาน ตลอดจนงบประมาณที่จะใช้ในการขับเคลื่อนแผนและพัฒนาโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการทำงานกับครอบครัวเป้าหมาย 3) การขับเคลื่อนกลไกการเชื่อมต่อข้อมูลและการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกันระหว่างศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนและภาคีเครือข่ายหน่วยงานต่าง ๆ

โดยจะเห็นได้ว่าทั้ง ศพค. และ อบต. จะมีการทำงานที่ใกล้ชิดและมีการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมตามโจทย์และกลุ่มเป้าหมายการทำงาน เช่น การเชื่อมโยงกับกลไกของ อสม. รพ.สต. และกองทุนสปสช.หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อมาขับเคลี่อนการทำงานครอบครัวที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ครอบครัวผู้สูงอายุหรือครอบครัวที่มีผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง การเชื่อมโยงกับพมจ. คณะกรรมการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก สตรี และผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เจ้าหน้าที่รัฐ อาสาสมัครและมูลนิธิต่าง ๆ มาช่วยดูแลเฝ้าระวังหรือส่งต่อช่วยเหลือครอบครัวที่มีความรุนแรง เป็นต้น

ตัวย่างเช่น จังหวัดระยอง ศพค. และ อบต.มาบข่ามีการจัดทำระบบข้อมูลครอบครัวยากจน ทางโครงการเสนอแนะให้พัฒนาระบบข้อมูล เพื่อใช้วิเคราะห์ปัญหา จากนั้นนำข้อมูลที่เป็นประเด็นเร่งด่วนของพื้นที่ไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา หรือพัฒนา โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือครอบครัวยากจนและครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือเฉพาะ จังหวัดศรีสะเกษ ศพค.และอบต.ตองปิด มีการจัดทำข้อมูลจากการสำรวจรายครัวเรือน ข้อมูลจปฐ. การรายงานของผู้นำท้องถิ่น มาทำงานวางแผนช่วยเหลือครอบครัวยากจน/ครอบครัวลักษณะเฉพาะ (ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง) จังหวัดราชบุรีศพค.เกาะพลับพลา มีการจัดทำระบบค้นหาครอบครัวกลุ่มเสี่ยงในทุกช่วงวัย เพื่อการดูแลเชิงระบบ ศพค.ปากช่อง มีการทำระบบข้อมูลเฝ้าระวังครอบครัวกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะครอบครัวที่มีเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งเรื่องความรุนแรง ยาเสพติด เด็กแว้น แม่วัยรุ่น เป็นต้น จังหวัดนครสวรรค์ ศพค.พรหมนิมิต การจัดทำข้อมูลครอบครัวที่มีผู้สูงวัยและศักยภาพด้านอาชีพของกลุ่มผู้สูงวัยเพื่อวางแผนการส่งเสริมพัฒนาครอบครัวที่มีผู้สูงอายุและการช่วยเหลือครอบครัวที่มีผู้สูงอายุยากลำบาก จังหวัดพังงา ศพค. พรุใน และ อบต.พรุใน มีการสำรวจสถานการณ์ครอบครัวเพื่อวางแผนการพัฒนาครอบครัวทั้งในมิติส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัวในกลุ่มต่าง ๆ มีการวิเคราะห์สภาพปัญหาและวิเคราะห์สถานการณ์การเลี้ยงดูลูก ความสัมพันธ์ของครอบครัว และการช่วยเหลือครอบครัวยากลำบาก รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มปัญหาที่จะเกิดเพื่อวางผนการทำงานเชิงป้องกันปัญหา เช่น การป้องกันปัญหาแม่วัยรุ่นหรือเยาวชนท้องก่อนวัยอันควร เป็นต้น

การทำงานทั้งหมดนี้ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากศูนย์พัฒนาครอบครัวในพื้นที่ในเรื่องของการเข้ามาหนุนเสริมของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว โดยมีนายธรรมศักดิ์ จันทรส ประธานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนบ่อแสน อ.ทับปุด จ.พังงาได้กล่าวเสริมว่า "ชุมชนนั้นพร้อมและเป็นเจ้าของในเรื่องของการพัฒนาครอบครัวในชุมชนเองอยู่แล้ว หากแต่จะเป็นการดียิ่งที่ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาและความต้องการที่มีความแตกต่างกันในแต่พื้นที่ ซึ่งโครงการนี้ทำให้พื้นที่มีกำลังใจและอุ่นใจที่ทางกรมเองให้การสนับสนุนโดยเฉพาะการเป็นพี่เลี้ยงที่ทำงานร่วมกันกับคนในพื้นที่"

ซึ่งนายสมเกียรติ์ คงทิมนายกองค์การบริหารส้วนตำบลพรหมนิมิต อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ได้ให้ความคิดเห็นเรื่องโครงการนี้ว่า "ครอบครัวนั้นเป็นหน้าด่านสำคัญและเป็นรากฐานของชุมชน การที่สค.ได้ดำเนินโครงการที่พัฒนาครอบครัวบนฐานข้อมูลนอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดแล้ว การมีข้อมูลและใช้ข้อมูลครอบครัวในชุมชนจะก่อให้เกิดการทำงานประสานกันเป็นอย่างดีของหลายๆหน่วยงานในท้องถิ่นที่จะมาช่วยเหลือครอบครัวที่ยากลำบากในชุมชนร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

จะเห็นได้ว่าการทำงานเชื่อมโยงกลไกต่างๆ เหล่านี้ ยังมีความพยายามบูรณาการการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อสนองตอบต่อนโยบายระดับชาติที่จะขับเคลื่อนการส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัวเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย โดยโครงการดังกล่าวยังมีการทำงานขับเคลื่อนเชิงลึกอีกอย่างต่อเนื่องโดยระยะต่อไปจะเข้าสู่การเรียนรู้ ถอดบทเรียนตัวแบบที่ดีของการทำงานเชิงระบบและการสังเคราะห์องค์ความรู้จากการพัฒนากลไกการเชื่อมต่อข้อมูลและการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวต่อไป