รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า "ในช่วงปี 2558 -2559 เป็นต้นไปนับเป็นกระแสการเติบโตของ"Startup" ของไทย หรือบริษัทเปิดใหม่ที่พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการโดดเด่นด้วยเทคโนโลยี จากธุรกิจขนาดเล็กๆ จนกระทั่งดึงดูดเงินทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมขยายกิจการ ปัจจุบันประเทศในอาเซียนมี Startup เกิดใหม่มากมาย มีอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เทียบกับประเทศไทยยังถือว่านวัตกรรม Startup ของเรายังเกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจากขาดการเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีกับศักยภาพการตลาดในกลุ่มสตาร์ทอัพ อีกทั้งผลงานวิจัยในประเทศไทยรวมประมาณ 3.7 แสนผลงาน มีเพียง 40 -45 % ที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ได้ และในจำนวนนี้มีนวัตกรรมไม่ถึง 5 % ที่สร้างมูลค่ารายได้กลับมา โครงการสตาร์ทอัพนักศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ (KMITL Innovation & Tech Startup - KITS) โดยคณะวิศวลาดกระบัง สจล.ซึ่งนับเป็นสถาบันผลิตบุคคลากรด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของไทย ร่วมกับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการใหม่เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม (Start-ups) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมให้นักศึกษานำความคิดสร้างสรรค์ไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้นักศึกษานำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีความเข้าใจในการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Model) ให้ประสบความสำเร็จ
องค์ประกอบสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจในยุคปัจจุบันและอนาคต คือ การกระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้กับนักศึกษาคนรุ่นใหม่ได้ดัดแปลงและประยุกต์การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาตอบโจทย์ปัญหา การวิเคราะห์ความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ และการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Model) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าหรือบริการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสำเร็จเชิงพาณิชย์ แต่ละทีมผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) ควรประกอบด้วย นักศึกษาจากหลากหลายสาขาวิชา เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ใช้จุดเด่นความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ นักศึกษาคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และรวมพลังศักยภาพของทีม เพื่อนำไปสู่การเป็น Startup ผู้ประกอบการรายใหม่ กิจกรรมการดำเนินงาน ของโครงการสร้างเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ (KMITL Innovation & Tech Startup หรือ KITS) ใช้เวลา 9 เดือน โดยจะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ, จัดเวทีเสวนาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup), จัดเวทีเสวนาทางธุรกิจและอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ , สรุปและประเมินผลโครงการ โครงการตั้งเป้าหมาย จำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 200 คน และมีกลุ่มต้นแบบ Startup เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 กลุ่ม "
ทั้งนี้โครงการสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพนักศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ (KMITL Innovation & Tech Startup -KITS) ประกอบไปด้วย 3 โครงการย่อย คือ 1.) โครงการค้นหาผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ จากนั้นจะมีการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วมโครงการโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 2.) โครงการ Campus Tour จัดให้มีการพบปะกันระหว่างกลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเครือข่าย เพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียความคิดสร้างสรรค์ระหว่างกัน และ 3.) โครงการสร้างความตระหนัก-จิตวิญญาณผู้ประกอบการ เป็นการจัดเสวนาทางธุรกิจและอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Model) ทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตและประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ในระหว่างปี 2559 คณะวิศวลาดกระบัง สจล. ยังมีแผนจัด 2 งานกิจกรรมใหญ่ที่จะส่งเสริมโอกาสและการพัฒนาสตาร์ทอัพของประเทศไทยและนักศึกษา ได้แก่ 1.) งาน KMITL Startup Project Day 2016 วันที่ 20-21 เมษายน 2559 เป็นงานแสดงนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ทุกสาขาวิชา ณ หอประชุม สจล. 2.) งานวิศวะ'59 กำหนดจัดในวันที่ 1-4 กันยายน 2559 ณ ไบเทคบางนา ในงานมีการแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมที่ก้าวหน้าและใหญ่ที่สุด แสดงผลิตภัณฑ์ บริการที่โดดเด่น ผลงานวิจัยและสตาร์ทอัพของผู้ประกอบการและกลุ่มนักศึกษา งานวิศวะในปีที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยในปี 2559 จะพัฒนางานให้ยิ่งใหญ่และมีสีสันของสตาร์ทอัพอย่างน่าสนใจ
ดร.สำราญ ภูอนันตานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) กล่าวว่า "กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หรือ Tech Startup ซึ่งเป็นแนวทางการส่งเสริมที่สอดคล้องกับแนวนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ SMEs ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล จึงได้ร่วมกับสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการใหม่เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม (Start-ups) มีแผนจะเปิดสตาร์ทอัพ คลับสำหรับนักศึกษา 40 แห่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยได้เปิดสตาร์ทอัพ คลับแห่งแรกของไทยที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตวิศวกรนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่มีชื่อเสียง เข้ามาร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงพลังสำคัญยิ่งที่จะช่วยผลักดันให้วงการสตาร์ทอัพของไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและก้าวไกลยั่งยืนในเวทีระดับประเทศและระหว่างประเทศ สามารถนำความก้าวหน้าทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างนวัตกรรม ตอบโจทย์และสนองความต้องการผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ต่อไป"
ในโอกาสนี้ยังเปิดเวทีเสวนา เรื่อง "Startup: Start Together" โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมถ่ายทอดแบ่งปันประสบการณ์สตาร์ทอัพบนเวที ประกอบด้วย ดร.สามารถ คงทวีเลิศ ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจพระจอมเกล้าลาดกระบัง ดร.มนู อรดีดลเชษฐ์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, คุณศุภชัย จงศิริ คณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), คุณเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค), ผศ.ดร.ดอน อิศรากร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม และ คุณธีระ ศิริเจริญ COO & Co-founder บริษัท กอล์ฟดิกก์ จำกัด ผู้ประสบผลสำเร็จบริการจองสนามกอล์ฟ ลองมาฟังมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ 5 คน
ดร.มนู อรดีดลเชษฐ์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า "ขณะนี้ประเทศไทยต้องการนักนวัตกรรมที่นำความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิตอล ซึ่งกลุ่ม Startup ที่รัฐบาลส่งเสริมผลักดันให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ มีอยู่ 4 สาขาหลัก ได้แก่ 1.)สาขาวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างนวัตกรรมให้เป็นผลงานทางธุรกิจได้ 2.)สาขาเทคโนโลยี เน้นไปในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคิดนวัตกรรมในการช่วยควบคุมการจราจร 3.)สาขานวัตกรรมโปรแกรมทั่วไป แต่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และตอบโจทย์แก้ปัญหาของสังคม และ 4.)สาขาการตลาดระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ"
คุณศุภชัย จงศิริ คณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) "แนวทางในการปฏิบัติโครงการสตาร์ทอัพคลับของกระทรวงไอซีที และ SIPA มุ่งเน้นไปที่มหาวิทยาลัยเป็นอันดับแรก เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งอุดมไปด้วยทรัพยากรที่มีค่าทั้งบุคลากร นักศึกษา และอุปกรณ์ที่จะช่วยในการพัฒนาไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ โดยขั้นแรกของโครงการมีเป้าหมายจะจัดตั้งสตาร์ทอัพคลับภายในมหาวิทยาลัย อย่างน้อย 40 แห่ง ทั่วประเทศ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนเดินสายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่ประสบความสำเร็จในวงการสตาร์ทอัพทั้งของไทยและต่างประเทศ ได้พบปะกับนักศึกษาคนรุ่นใหม่ พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงไอเดียต่างๆ จุดประกายให้นักศึกษาที่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้วได้พัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อไป ซึ่งจะมีการเปิดรับสมัครผลงานจากนักศึกษาเข้ามาประกวดเพื่อเฟ้นหาสุดยอดผู้ประกอบการสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ โดยตั้งเป้าไว้ 500 โครงการ ที่จะส่งไอเดียเข้ามาในรอบแรก จากนั้นก็จะคัดเลือกเหลือ 40 ทีมที่จะเข้ามาอบรมเสริมความรู้และประสบการณ์ โดยมีกระทรวงไอซีที และ SIPA เป็นพี่เลี้ยง ในรอบสุดท้ายจะคัดเหลือเพียง 10 ทีม ที่จะได้มีโอกาสไปฝึกฝนความเชี่ยวชาญและเปิดรับประสบการณ์ใหม่ที่ต่างประเทศอีกด้วย"
คุณเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) กล่าวว่า "การพัฒนาสตาร์ทอัพในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนในเรื่องของแนวความคิดและประสบการณ์ใหม่ๆ จากทั้งกระทรวงไอซีที ซิป้า มหาวิทยาลัย กลุ่มสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยพัฒนาผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามารองรับอนาคตการเติบโตของเศรษฐกิจยุคดิจิตอลของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเทค สตาร์ทอัพ (Tech Startup) ที่พัฒนาสินค้าหรือบริการด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยกลุ่มสตาร์ทอัพจะต้องเริ่มจากการคิดให้ใหญ่ แต่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ (Think Big, Start Small) สำหรับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่สำคัญของการเริ่มต้นสตาร์ทอัพควรมีความยืดหยุ่น โดยมี 3 สิ่งที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ คือ 1.) สร้างจุดแตกต่างและคุณค่าแก่ผู้บริโภค (Create Value) 2.) ต้องมีความเป็นไปได้ในเชิงการตลาดอย่างยั่งยืน (Revenue) และ3.) สามารถสร้างผลกำไร (Make Profit) และที่สำคัญกลุ่มสตาร์ทอัพต้องเปิดโลกทรรศน์ของตนเองให้กว้างไกลและมีความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภคอย่างรอบด้าน"
ผศ.ดร.ดอน อิศรากร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม สจล. กล่าวว่า "สจล. มีระบบกลไกต่างๆ ที่จะรองรับแนวทางการดำเนินโครงการสตาร์ทอัพนักศึกษาอยู่แล้ว เร่งผลักดันกระบวนการสตาร์ทอัพสู่นักศึกษาให้ทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในด้านวางแผนดำเนินงานงานสตาร์ทอัพ การปรับปรุงงานวิจัยให้สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สามารถแก้ปัญหาได้จริง โดยจะต้องเริ่มต้นงานวิจัยจากปัญหา มุ่งไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ความต้องการของตลาด (Demand-Driven Model) ขอฝากข้อคิดสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในการสร้างนวัตกรรมที่จะต่อยอดในเชิงพาณิชย์ 3 ข้อ คือ 1.) อย่าเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป 2.) ให้วิเคราะห์หาความเป็นไปได้ในทุกกรณี ดูว่าอันไหนดี เหมาะสมที่สุด และ 3.) คำนึงถึงแหล่งทุน องค์กรต้นสังกัด และผู้ใช้งาน ว่างานนั้นตอบสนองความต้องการเหล่านั้นหรือไม่ สจล.ให้ความสำคัญต่อสตาร์ทอัพ หรือ Enterpreneurship จะเปิดวิชาเกี่ยวกับผู้ประกอบการ ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการหลายแห่ง จะสร้างหลักสูตรและเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษาหน้า"
คุณธีระ ศิริเจริญ ผู้ก่อตั้งบริษัท กอล์ฟดิกก์ จำกัด สตาร์ทอัพไทย เจ้าของแอพบริการจองสนามกอล์ฟออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จ และเป็นหนึ่งในศิษย์เก่าจากรั้วสจล.เล่าว่า "สตาร์ทอัพมีความแตกต่างจากเอสเอ็มอีทั่วไป โดยผู้เริ่มต้นธุรกิจจะต้องคิดรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ให้สามารถขยายสเกลต่อออกไปได้จริง เมื่อธุรกิจดำเนินไปถึงจุดที่เหมาะสมกับตลาด ก็สามารถขยายได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการจะเป็นสตาร์ทอัพมี 2 สิ่งที่ผู้ทำธุรกิจต้องเจอ คือ 1.) ทีมหรือคน เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด มีทีมสตาร์ทอัพซึ่งต้องมี 3 ทักษะ ได้แก่ ทักษะทางธุรกิจ (Business) ทำธุรกิจและการตลาดได้,ทักษะการพัฒนาโปรแกรม (Developer) นำไอเดียทางการตลาดมาสร้างผลิตภัณฑ์ให้เป็นจริงได้ และทักษะด้านศิลปิน (Artist) ผู้ที่มีความเข้าใจในการออกแบบส่วนที่จะประสานต่อเทคโนโลยีกับผู้ใช้งาน (User Interface - UI) ทำของยากๆให้ใช้งานได้ง่าย 2.) ทุน เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่สตาร์ทอัพต้องมี เพื่อทำให้ไอเดียหรือนวัตกรรมเป็นจริงได้ ใส่ใจในรายละเอียดความต้องการของลูกค้า และความเป็นไปของโลก เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงโจทย์และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง"
อีกไฮไลต์ของงานวันนี้ยังได้เปิดตัว 3 กลุ่มสตาร์ทอัพนักศึกษาคนรุ่นใหม่ไอเดียสุดเจ๋ง ที่กำลังพัฒนานวัตกรรมแอพพลิเคชั่นที่มีอนาคตสดใสในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ 1.) กลุ่มสมาร์ทลีฟวิ่ง (Smart Living) เจ้าของผลงานแอพพลิเคชั่นสุดล้ำเปิด-ปิดไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน ผ่านสมาร์ทโฟนจุดเดียวที่ทำให้ชีวิตง่ายและปลอดภัยขึ้น 2.) กลุ่มกรุงศรีหมีเก็บเงิน เจ้าของแอพพลิเคชั่นกรุงศรี หมีเก็บเงิน แอพพลิเคชั่นแรกในประเทศไทยที่ทำให้การออมเงินไม่น่าเบื่ออีกต่อไป โดยนำเสนอในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นเกม ซึ่งเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบ E-banking ของธนาคาร ทำให้สนุกได้ความรู้และรู้สึกอยากออมเงินมากขึ้น และ 3.) กลุ่มอีซี่ดีล (EasyDeal) สร้างแอพพลิเคชั่นจัดการการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่ทำให้การซื้อขายของคุณถูกต้องด้วยระบบสต็อกสินค้าและรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยฟังก์ชั่น Auto-Match ที่สามารถตรวจสอบยอดการโอนเงินได้โดยอัตโนมัติ
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit