กระทรวงเกษตรฯ หารือมาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาข้าวของชาวนาไทย เน้นส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ผ่านกลไกซิงเกิลคอมมานด์ เดินหน้าปรับแนวทางบริหารจัดการสินค้าข้าวไทยอย่างครบวงจร เพื่อสอดรับความต้องการของตลาด

04 Feb 2016
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือการพิจารณามาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาข้าวของชาวนาไทย โดยมีการหารือมาตรการช่วยเหลือชาวนาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และเครือข่ายสมาคมชาวนา โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งเน้นเรื่องการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าว โดยมีการกำหนดเขตที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวแต่ละชนิดพันธุ์ รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นเกิดความมั่นคงในอาชีพ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมาย 300 ชุมชน ชุมชนละประมาณ 1,000-3,000 ไร่ รวม 694,346 ไร่ จำนวนครัวเรือนเกษตรกร 58,336 ครัวเรือน โดยสนับสนุนในด้านต่างๆ อาทิ เมล็ดพันธุ์ข้าว ชุดเครื่องปลูก ชุดเครื่องปรับปรุงสภาพเมล็ด เครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือก และการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นต้น ตลอดทั้งส่งเสริมกิจกรรมด้านต่างๆ อาทิ ส่งเสริมกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและกระจายพันธุ์ ส่งเสริมกลุ่มชาวนาผู้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตร จัดทำแปลงเรียนรู้ การบริหารชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ส่งเสริมกลุ่มชาวนาผู้บริหารจัดการศัตรูข้าว การจัดตั้งกลุ่มชาวนาผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ และการจัดการด้านการตลาด โดยหาข้อตกลงร่วมระหว่างผู้นำชุมชนและเครือข่ายเพื่อวางแผนการตลาดและเจรจาธุรกิจ นอกจากนี้ กระทรวง เกษตรฯ ยังมีมาตรการส่งเสริมการไถกลบตอซัง การส่งเสริมการปลูกพืชปุ๋ยสดในนาข้าว การส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนในการจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรของชาวนา

"กระทรวงเกษตรฯ ต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานด้านการผลิตข้าว และปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าวควบคู่กับการวางแผนการเพาะปลูกข้าวให้เกิดความสมดุลกับความต้องการของตลาด โดยมองถึงความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรม ในส่วนการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่จะใช้กลไกระบบซิงเกิลคอมมานด์ในการขับเคลื่อนดำเนินงานในแต่ละพื้นที่และเชื่อมโยงกับการตลาด ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำนาแปลงใหญ่ในชุมชน ว่าควรจะกระจายไปยังที่ใดบ้าง เพื่อสนับสนุนความต้องการของเกษตรกร พร้อมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ให้กับเกษตรกรด้วย" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

ขณะที่แนวทางการบริหารจัดการสินค้าข้าวไทย ได้มีการปรับ 3 ด้านอย่างครบวงจร คือ ปรับเพิ่มการประสานงาน จากเดิมที่หน่วยงานต่างคนต่างทำ มาเป็นการดำเนินงานในเชิงบูรณาการมากยิ่งขึ้นระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชาวนา ปรับเปลี่ยนการวางแผน จากเดิมที่การผลิตนำการตลาด มาเป็นการตลาดนำการผลิต และปรับปรุงกระบวนการ โดยการปรับปรุงบางขั้นตอนที่ไม่สอดรับกัน มาปรับปรุงทุกขั้นตอนอย่างสอดรับกัน ทั้งการวางแผนการผลิต โดยใช้ตลาดนำการผลิต การผลิตข้าวที่มีประสิทธิภาพ การสีแปรสภาพข้าวที่ได้มาตรฐานสากล และการตลาดข้าวที่มีกลไกตลาดเข้มแข็ง สำหรับแผนการเพาะปลูกข้าวปี 2559/60 ซึ่งมีความต้องการข้าวภายในประเทศ ประมาณ 25 ล้านตัน ได้มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตข้าวรวมทั้งสิ้น 27.17 ล้านตัน แยกเป็น ข้าวหอมมะลิ 7.30 ล้านตัน ข้าวปทุมธานี 1.1 ล้านตัน ข้าวเจ้า 11.54 ล้านตัน ข้าวเหนียว 7.11 ล้านตัน และข้าวอื่นๆอีก 0.12 ล้านตัน