นายวิพล วรเสาหฤท รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปัจจุบัน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่กระจายสู่ทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และความต้องการของผู้บริโภคจากประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการขยายการลงทุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งธนาคารยินดีจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม หลังจากได้ทำงานร่วมกับลูกค้าจากหลายอุตสาหกรรม ธนาคารพบว่าการให้บริการทางการเงินในรูปแบบสินเชื่อและผลิตภัณฑ์เดี่ยวๆ แบบเดิมนั้นอาจไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ธนาคารจึงได้ทำการศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะการดำเนินธุรกิจของลูกค้าตลอดทั้งกระบวนการ และได้กำหนดกลยุทธ์ Industry Solution ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงให้กับลูกค้าเป็นรายอุตสาหกรรม ด้วยโซลูชั่นทางการเงินแบบครบวงจรที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีความต้องการทางการเงินและวงจรการดำเนินธุรกิจที่ต่างกัน ทั้งด้านความต้องการสินเชื่อ การบริหารจัดการธุรกรรมทางการเงิน ซึ่ง Industry Solution สามารถที่จะตอบโจทย์ให้กับเอสเอ็มอีได้อย่างตรงจุด สามารถอนุมัติวงเงินสินเชื่อได้รวดเร็วมากขึ้น และต่อยอดไปยัง value chain ของลูกค้าเพื่อเสริมศักยภาพ Network ของลูกค้าให้เข้มแข็งมากขึ้น รวมถึงสามารถสร้างโอกาสในการทำ Business Matching ให้กับลูกค้าได้อีกด้วย
ธนาคารมีการพัฒนาโซลูชั่นทางการเงินเบื้องต้นไว้สำหรับ 5 อุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภาครัฐ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ และ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง นอกจากนี้ ยังมีโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมอื่นตามมาอีกเรื่อยๆ ตลอดทั้งปีนี้ ทั้งนี้การเลือกพัฒนาโซลูชั่นจากแต่ละอุตสาหกรรมนั้น ธนาคารได้พิจารณาจากศักยภาพทางธุรกิจที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งมั่นใจว่าหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสมและตรงความต้องการที่แท้จริงจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจสามารถเติบโตและขยายตัวไปสู่ตลาดโลก
"ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจเอสเอ็มอีและความใกล้ชิดกับลูกค้า ทำให้ธนาคารเข้าใจการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เรารู้ว่าในแต่ละธุรกิจมีความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะมีความต้องการวงเงินประเภทหนังสือค้ำประกันหลากหลายประเภท ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มต้องการวงเงินเป็นฤดูกาล ธุรกิจโลจิสติกส์จะต้องการวงเงินประเภทเช่าซื้อรถเป็นหลัก ส่วนธุรกิจซื้อมาขายไปจะเน้นวงเงินประเภทสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อการสต๊อคสินค้า เป็นต้น ความเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริงทำให้ธนาคารสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งสะดวก ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน และช่วยให้การอนุมัติวงเงินสินเชื่อทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น"
นายวิพล กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อใหม่ในลูกค้าเอสเอ็มอี รวมถึงการเข้าไปดูแลคู่ค้าทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในซัพพลายเชนของลูกค้าด้วย รวมถึงการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่ต้องการออกไปทำการค้าระหว่างประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการให้ความรู้และคำแนะนำในการทำการค้ากับคู่ค้าต่างประทศ รวมถึงการพัฒนาโซลูชั่นทางการเงินเพื่อช่วยสนับสนุนการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้จะดูแลลูกค้าให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างจังหวัดให้มากขึ้นด้วยบริการที่ใกล้ชิด โดยในปี 2559 ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายยอดสินเชื่อคงค้างเติบโตประมาณ 4-6% จากปี 2558 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยมียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 3.6 แสนล้านบาท และตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ประมาณ 80,000 – 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์เอสเอ็มอีมากยิ่งขึ้น เพื่อก้าวเป็นธนาคารเอสเอ็มอีที่ลูกค้าเลือก
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit