ครม.ไฟเขียวแก้พ.ร.บ.ฮัจย์ โอนกิจการฮัจย์ให้ มท. ดูแล เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกิจการฮัจย์-เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องมุสลิม ชี้ มท.มีหน่วยงานระดับอำเภอ-ตำบล-หมู่บ้านเข้าถึงปชช.ได้ง่าย-รวดเร็ว

20 Oct 2015
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....โดยสาระสำคัญในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อโอนกิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิหนี้ ภาระผูกพัน และกองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของกองส่งเสริมกิจการฮัจย์ กรมการศาสนา (ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)ไปยังกองส่งเสริมกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) เนื่องจาก วธ. ไม่มีบุคคลากรและหน่วยงานในพื้นที่ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ทำให้การดำเนินกิจการฮัจย์เข้าถึงประชาชนล่าช้าและไม่สะดวก คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ผู้ทรงวุฒิและหน่วยงานต่างๆรวมถึงจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก็สนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานและส่วนราชการที่กำกับดูแลและบริหารกิจการฮัจย์จากเดิมเป็นกรมการศาสนา เป็นกรมการปกครอง นอกจากนี้ให้แก้ไขปรับปรุงรัฐมนตรีรักษาการตามพ.ร.บ.และมีอำนาจออกกฎกระทรวง จากเดิม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้การดำเนินงานของกิจการฮัจย์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประโยชน์แก่พี่น้องชาวมุสลิมมากที่สุด

นายวีระ กล่าวว่า นอกจากนี้แก้ไขให้ปลัด มท. เป็นรองประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์ฯ จากเดิมเป็นปลัด วธ. เป็นรองประธาน แม้ว่าจะโอนย้ายกิจการฮัจย์ไปแล้ว ทางวธ. ยังคงร่วมขับเคลื่อนงานของกิจการฮัจย์ต่อไป โดยได้เพิ่มสัดส่วนของกรรมการ อาทิ ปลัด วธ. ผู้แทน ศน. ผู้แทนจุฬาราชมนตรี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ฯลฯ เป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์ฯ เพื่อให้ครอบคลุมภารกิจและช่วยขับเคลื่อนงานได้รวดเร็วขึ้น ส่วนหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์ฯ ปรับแก้ให้อธิบดีกรมการปกครอง ทำหน้าที่แทน อธิบดี ศน.

รมว.วธ. กล่าวต่อว่า เน้นย้ำว่าการแก้ร่างพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เพื่อโอนย้ายกิจการฮัจย์จากศน. ไปกรมการปกครอง ไม่ได้เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่นำเสนอข่าวก่อนหน้านี้ เหตุผลหลักคือ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและเพื่อให้การดำเนินกิจการฮัจย์เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล จึงต้องปฏิรูปการบริหารกิจการงานฮัจย์ใหม่ ที่สำคัญกรมการปกครอง ถือว่ามีกลไกการทำงานที่ลงพื้นที่ใกล้ชิดประชาชนมากกว่า วธ. เพราะมีนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้ง มีอิหม่าม คอเต็บและบิหลั่นประจำมัสยิดอยู่ในการดูแล อย่างไรก็ตามการดำเนินการโอนกิจการฮัจย์ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับตั้งแต่พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้