นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชันหว่ามก๋อ ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ มีกำลังแรง ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกเป็นบริเวณกว้างกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 17 – 18 ก.ย. 58 อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลากและดินถล่มได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 65 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงภัย แยกเป็น ภาคกลาง 19 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ประกอบด้วย ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ระยองและจันทบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บึงกาฬ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และเลย ภาคเหนือ 5 จังหวัดประกอบด้วย เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และนครสวรรค์ ภาคใต้ 14 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง พังงาภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องให้ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนที่ตกชุกหนาแน่นในระยะนี้ พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที รวมถึงชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยระมัดระวังการเดินเรือในระยะนี้ด้วย ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th