นายแพทย์โชคชัย สุวรรณกิจบริหาร รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคชี้ว่า ในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมด 58,681 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตของโรคหัวใจและหลอดเลือด เท่ากับ 90.34 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด จำนวน 18,079 คน หรือ เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตของโรคหัวใจขาดเลือด เท่ากับ 27.83 ต่อแสนประชากรอัตราผู้ป่วยโรคหัวใจในคนไทยเพิ่มสูงขึ้น มักเกิดจากปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุที่มากขึ้น ภาวะอ้วน ไขมันสะสม สูบบุหรี่เป็นประจำ มีโรคประจำตัวคือ เบาหวานและความดัน ไม่ชอบออกกำลังกาย เกิดความเครียดบ่อยครั้ง ตลอดจนปัจจัยทางพันธุกรรม ที่เป็นตัวเร่งทำให้กลายเป็นโรคหัวใจในอนาคต เนื่องจากวันที่ 29 กันยายน ของทุกปีจัดเป็นวันหัวใจโลก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ จึงจัด "งาน World Heart Day 2015 ตอน Zoom in your heart เริ่มต้นสำรวจหัวใจตัวเอง" เพื่อรณรงค์ให้คนไทยหันมาดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง และตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ
นพ. วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล รองผู้อำนวยการ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า การใส่ใจดูแลหัวใจตัวเองนั้น การตรวจคัดกรองถือว่ามีประโยชน์มากในการช่วยวางแผนการรักษาและป้องกันเรียกว่า รู้ก่อน ป้องกันได้ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองความเสี่ยงทางหลอดเลือดทั้งร่างกาย ได้แก่ การตรวจ ABI เพื่อดูสภาพเส้นเลือดที่ขา, การตรวจ Carotid Droppler เพื่อดูเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอที่ไปเลี้ยงสมอง, การตรวจ Aneurysm Screening เพื่อดูเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองบริเวณหน้าอกและช่องท้อง, การตรวจ M.R.A Brain เพื่อดูสภาพเส้นเลือดสมอง รวมไปถึงการตรวจคัดกรองความเสี่ยงทางหัวใจในนักกีฬาอายุน้อย (อายุน้อยกว่า 35 ปีเท่านั้น) เพื่อช่วยป้องกันและลดสาเหตุการเสียชีวิตเฉียบพลันในกลุ่มนักกีฬาอายุน้อย ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ยกตัวอย่างโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกิดจากหลอดเลือดแดงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจหรือมีไขมันไปเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย เป็นผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและหากหลอดเลือดตีบแคบลงจนอุดตัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้คือ โรคความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, สูบบุหรี่, โรคเบาหวาน, ความอ้วน, ความเครียด, ไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือวัยหลังหมดประจำเดือน และ ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ โดยจะแสดงอาการออกมาในรูปของ ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการคลื่นไส้ และอาจมีอาเจียน มีอาการเหงื่อออก เวียนศีรษะ และมีอาการหลักบ่งชี้คือ อาการเจ็บหน้าอกจะมีลักษณะเฉพาะได้แก่ ตำแหน่งการเจ็บ มักเป็นตรงกลางหน้าอก เยื้องลงมาทางลิ้นปี่เล็กน้อย, ลักษณะเจ็บ มักจุกๆ แน่นๆ อึดอัด บางทีร้าวไปถึงคอหอย ไหล่ซ้าย ข้อศอก หรือ ท้องแขนซ้าย หรือกราม หรือคอด้านซ้าย หรือในบางรายมีอาการใจหวิว ใจสั่น ชีพจรเร็วกว่าปกติ หรือช้ากว่าปกติ หรือเหงื่อซึม เป็นลม หน้ามืด หมดสติการรักษาคือ ต้องเปิดหลอดเลือดหัวใจซึ่งทำได้หลายวิธี ขึ้นกับระยะเวลาที่เป็น, ความพร้อมของสถานบริการ และความรุนแรงของผู้ป่วย โดยวิธีที่ยอมรับอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ การให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งสามารถให้การรักษาได้ทุกแห่ง ถ้าไม่มีข้อห้ามใช้ยา โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมาถึงแพทย์ ภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ และยังให้ผลดีบ้าง ถ้าได้รับยาภายใน 6 ชั่วโมง หรือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน ร่วมกับการฝังขดลวดค้ำยัน ซึ่งเป็นการรักษาที่ดีและได้ผลรวดเร็ว ซึ่งอาจทำได้เลยตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงหรือมีข้อจำกัดไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ หรือในกรณีที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วผู้ป่วยยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่ แต่มีข้อจำกัดที่สถานให้บริการจะต้องพร้อม ทั้งห้องตรวจสวนหัวใจ ทีมแพทย์พยาบาล ที่มีความชำนาญ
ส่วนโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองอาจจะเกิดในช่องท้องหรือช่องทรวงอกก็ได้ เกิดเนื่องจากผนังของเส้นเลือดอ่อนแอและโป่งพองออก นอกจากนั้นยังมีอีกโรคที่อันตรายมาก คือ โรคเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตกเซาะ เกิดจากผนังของเส้นเลือดบางส่วนแตก แต่ไม่ได้ทะลุแตกออกมาข้างนอก ซึ่งหากทะลุคนไข้ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมาก และโดยมากอาการแตกเซาะจะแตกจากชั้นในเข้าไปในชั้นกลางก่อนถึงชั้นนอก โดยเซาะเข้าไปในเส้นเลือดทำให้เส้นเลือดด้านนอกโป่งออก ส่วนด้านในแฟบเข้ามา ทำให้เลือดที่ไหลไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษารวดเร็วโดยการผ่าตัด กว่า 90 เปอร์เซ็นต์อาจเสียชีวิตได้ มักจะพบในกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป จนถึง 60-70 ปี และปัจจุบันพบในกลุ่มอายุน้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอกมาก เหนื่อย หายใจไม่ทัน ถึงขั้นตัวเขียว เพราะออกซิเจนในกระแสเลือดไม่เพียงพอ ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากไม่ได้รับการรักษา กว่า 90% อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น ความพร้อมเมื่อต้องผ่าตัดด่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะเป็นเวลากลางคืน ทั้งระบบจะมีการเตรียมการอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การจองเลือด เกล็ดเลือด รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้มาตรฐานของอุปกรณ์และห้องผ่าตัด นอกจากนี้การผ่าตัดจำเป็นต้องใช้ทีมแพทย์เฉพาะด้านที่มีความสามารถ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้ป่วย
3 สัญญาณอันตราย ได้แก่ เจ็บแน่นหน้าอกร้าวไปถึงหลังแบบเฉียบพลัน, เจ็บแน่นบริเวณช่องท้องร้าวไปถึงหลังแบบเฉียบพลัน และวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ร่วมกับเจ็บแน่นหน้าอกหรือบริเวณช่องท้อง การป้องกันการเกิดโรคและอาการผิดปกติในร่างกายนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดเริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง หากน้ำหนักตัวมากควรลดอาหารบางอย่าง กินอาหารที่มีไขมันดี เน้นปลาและผัก หากมีความดันโลหิตสูงต้องใช้ยาลดความดัน สร้างความสมดุลหากเกิดภาวะเครียด ออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพ อย่ารอให้สายเกินแก้
นพ. ชาญพงค์ ตังคณะกุล ผู้อำนวยการศูนย์สมองและระบบประสาท กล่าวเสริมว่า ต้นเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke นั้นเกิดจากการที่หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองมีความผิดปกติ ซึ่งมี 2 ชนิดคือ หลอดเลือดสมองตีบตันและหลอดเลือดสมองแตก ส่งผลให้สมองหยุดทำงานไปอย่างเฉียบพลันจากการที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือมีเลือดออกแทรกทับในเนื้อสมอง 70% ของโรคหลอดเลือดสมองเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ 3 ประการคือ 1.การอุดตันของหลอดเลือดจากการเสื่อมหรือการแข็งตัวของหลอดเลือด 2. ก้อนเลือดจากหัวใจหรือตะกอนเลือดจากผนังหลอดเลือดแดงที่คอด้านหน้าหลุดเข้าไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง 3. ความดันเลือดลดลงมากจนไปเลี้ยงไม่พอ ส่วนอีก 30% เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด คือเลือดออกในเนื้อสมอง ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็น 1. โรคความดันโลหิตสูง 2. โรคเบาหวาน 3. การสูบบุหรี่ 4. รวมถึงคนที่มีอัตราการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ (Atrial Fibrillation - AF) นพ.ชาญพงค์ ได้กล่าวต่อถึงอาการและความรุงแรงของโรคหลอดเลือดสมองว่าสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับระยะเวลา ตำแหน่งที่เกิดการตีบตันในสมองและขนาดของหลอดเลือด "กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีอาการน้อย คนไข้จะพูดไม่ชัด มุมปากตก แขนขาไม่มีแรงแต่พอเดินได้ มักไม่มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย หากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ อย่างถูกวิธีคนไข้จะกลับคืนเกือบปกติหรือปกติในบางรายภายใน 2-4 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 อาการปานกลาง คนไข้จะมีอาการเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น อ่อนแรงมากจนขยับไม่ได้หรือพูดไม่ได้เลย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ การฟื้นตัวในกลุ่มนี้จะเริ่มเห็นชัดประมาณสัปดาห์ที่ 3 และมักไม่กลับมาเป็นปกติ อาจมีอาการเกร็งหรือพูดไม่ชัด จึงต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลืออื่นๆ อย่างรถเข็นหรือไม้เท้า กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มอาการหนัก มักไม่รู้สึกตั้งแต่ต้นหรืออาการซึมลงเร็วมากภายใน 24 ชม. ส่วนใหญ่เกิดในผู้ป่วยที่หลอดเลือดสมองตีบตันขนาดใหญ่ในผู้สูงอายุ มักมีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวานหรือเคยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตมาก่อนและมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
นพ. สิทธิผล ชินพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ รพ.กรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยมักมีโรคหลายอย่างคู่กันมา ได้แก่ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง เบาหวาน อ้วน ดังกล่าว ล้วนเกิดจากปัจจัยเดียวกัน คือ การเสียสมดุลของร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มโรคที่เรียกว่า Metabolic syndrome ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน การผ่าตัดกระเพาะอาหาร ลำไส้ เป็นวิธีรักษาเบาหวานได้ดีที่สุด สามารถควบคุมให้เบาหวานหายขาดได้เกิน 5 ปี ถึง 2 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วย Metabolic Syndrome ที่มีน้ำหนัก เกิน 80 กิโลกรัมขึ้นไป ที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้อง แก้ปัญหาเรื่องเจ็บปวด หลังผ่าตัด ฟื้นตัวเร็ว เพื่อสุขภาพที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ยังได้ตระหนักให้ความสำคัญกับการช่วยชีวิตฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่องจัดโครงการฝึกอบรมพร้อมมอบเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ Automated External Defibrillator (AED) เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยได้อย่างทันเหตุการณ์ ให้แก่องค์กรสาธารณะต่างๆได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นแบบเฉียบพลันได้ในนาทีฉุกเฉิน
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ต้อนรับวันหัวใจโลก ขอเชิญทุกท่านร่วม "งาน World Heart Day 2015 ตอน Zoom in your heart เริ่มต้นสำรวจหัวใจตัวเอง" พบกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ Heart Seminar & Practice การฝึกอบรมใครๆ ก็ปั๊มหัวใจได้ ปีที่ 3, เสวนา โรคหลอดเลือดหัวใจ...ภัยเงียบที่ควรรู้ กิจกรรม Heart Check up บริการตรวจประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับผู้เข้าร่วมงาน ชมนิทรรศการความรู้ในการสำรวจหัวใจตัวเองให้ห่างไกลโรค พร้อมเลือกแพคเกจตรวจสุขภาพหัวใจ Heart Check-Up Package ตลอดเดือนกันยายน ในวันที่ 26 กันยายน 2558 เวลา 8.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม 7R ชั้น 7 ตึกเวชศาสตร์ฟื้นฟู (ตึก R) โรงพยาบาลกรุงเทพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมสำรองที่นั่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ Contact Center โทร. 1719โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70