ทั้งนี้มีธนาคารที่ได้ส่งคำขอให้ บสย. อนุมัติค้ำประกันแล้ว 7 ธนาคาร ประกอบด้วย 1. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 2. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) 3.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 4. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด(มหาชน) 5. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) 6. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) และ 7. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 บสย.อนุมัติแล้วจำนวน 343 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันรวม 2,030 ล้านบาทในระยะเวลา 10 วันทั้งนี้คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีคำขอค้ำประกันจากธนาคารต่างๆ เข้ามายัง บสย.อีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากธนาคารอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
"ตัวเลขค้ำประกันที่เพิ่มขึ้นทันที สะท้อนถึงความสำเร็จของการผลักดันมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของรัฐที่บูรณาการความร่วมมือระหว่าง บสย. เครื่องมือสำคัญภาครัฐและธนาคารพันธมิตรร่วมกันเพื่อช่วยผู้ประกอบการSMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้นโดยมีโครงการ PGS5 ปรับปรุงใหม่ของ บสย. เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน" นายญาณศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 ปรับปรุงใหม่ วงเงินค้ำประกัน 1 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่เปิดกว้างสำหรับทุกธนาคารที่ได้ร่วมลงนามกับ บสย. และสามารถใช้ได้กับสินเชื่อทุกแพคเกจโดยมีรัฐบาลรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการ SMEs ต่อเนื่อง 4 ปี (แบบขั้นบันได) โดยในปีแรกรัฐเป็นผู้รับภาระค่าธรรมเนียม (ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน) ส่วนปีที่ 2 รัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมให้ 1.25% ปีที่ 3 ในอัตรา 0.75% และปีที่ 4 ในอัตรา 0.25%