พม. จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้นำในการบริหารชุมชน เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีกับชาวชุมชนการเคหะฯ ร่วมพัฒนาชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน

09 Oct 2015
วันนี้ (๙ ต.ค. ๕๘) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่ห้องวทัญญู ณ ถลาง อาคาร ๑ สำนักงานใหญ่การเคหะแห่งชาติ กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร "ภาวะผู้นำในการบริหารชุมชน" เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและนำไปปฏิบัติงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนของการเคหะแห่งชาติ น่าอยู่ น่าอาศัยอย่างยั่งยืน

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีพันธกิจหลัก ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้ พัฒนาเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี บริหารจัดการสินทรัพย์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ บริการและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร ตลอดจนพัฒนาบุคลากรและองค์กรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ ๒๕๕๕–๒๕๕๙ ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานออกเป็น ช่วง"เสริมฐาน" ปี ๒๕๕๗–๒๕๕๘ เป็นการปรับปรุงการบริหารทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาบุคลากร สร้างค่านิยม ปรับปรุงสถานะทางการเงิน และสร้างองค์ความรู้ ช่วง "ต่อเติม" ปี ๒๕๕๙–๒๕๖๐ เป็นการปรับกระบวนการหลักให้มีประสิทธิภาพ ประยุกต์ใช้ผลจาก การวิจัยพัฒนาสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ขยายตลาดและผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงระบบงาน ช่วง "ตกแต่ง" ปี ๒๕๖๑–๒๕๖๒ มีระบบงานที่มีประสิทธิผลและมีการบูรณาการอย่างดี องค์กรเข้มแข็ง มีเอกลักษณ์เด่นชัด และเป็นศูนย์ความรู้ ช่วง "โดดเด่น" ปี ๒๕๖๓–๒๕๖๔ เป็นองค์กรหลักด้านที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง มีผลงานเด่น และ ปี ๒๕๖๕ เป็นองค์กรสมรรถนะสูง ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อความมั่นคงทางสังคม HPO : High Performance Organization" ทั้งนี้ จากทิศทาง การดำเนินงานดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง เพื่อความมั่นคงทางสังคม ดังนั้น ภารกิจด้านการบริหารและพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างสรรค์ชุมชนที่เข้มแข็ง มีคุณภาพและน่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องบริหารจัดการชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ทั้งโครงการเคหะชุมชน โครงการบ้านเอื้ออาทร และโครงการบ้านยั่งยืน ภารกิจดังกล่าว เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารงานชุมชน ๑–๔ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญที่จะผลักดันภารกิจต่างๆ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย จำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถสมรรถนะให้มีความพร้อม ในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับการบริการประชาชน จิตวิทยามวลชน การบริหาร ข้อร้องเรียน การมีส่วนร่วมชุมชน หลักการทำงาน และมนุษยสัมพันธ์กับชุมชนที่อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่และสมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วม ในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับการบริหารชุมชนให้มีความสุข หรือชุมชนน่าอยู่นั้น จำเป็นต้องมีการบริหาร แบบมีส่วนร่วมของประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตั้งคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การปรับปรุงสภาพชุมชน ให้ตัวแทนชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การจัดตั้งระบบนิติบุคคล การบริหารที่ยึดหลักสวัสดิการชุมชน จัดให้มีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านตัดผม สนามกีฬา การจัดการขยะ สถานที่จอดรถ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ระบบรักษาความปลอดภัย การบูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เรื่องการสร้างศูนย์รับดูแลเด็กเล็ก การดูแลคนพิการ และการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างชุมชนให้น่าอยู่และพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ทำให้ชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะหากบ้านมีความสุข ชุมชนมีความสุข ประเทศชาติก็จะมีความสุขและมีความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้น บุคลากรและผู้ปฏิบัติงานที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับชุมชน จึงต้องมีความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการที่อยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมชุมชน มีภาวะผู้นำ ที่จะนำพาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน เป็นผู้ประสานความร่วมมือ ร่วมใจในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง

"เนื่องจากที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติยังขาดการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรกับชาวชุมชนในโครงการต่างๆ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงปัญหาและความต้องการของชาวชุมชนได้อย่างแท้จริง การจัดอบรมฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความรู้ เข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างการเคหะแห่งชาติและชาวชุมชนในโครงการต่างๆ โดยอาศัยผู้บริหารโครงการเป็นกลไกสำคัญ ในการประสานความร่วมมือระหว่างกันที่จะทำให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมและให้การส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ของการเคหะแห่งชาติ ให้สามารถแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของชาวชุมชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างสังคมน่าอยู่และชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย