นายสราวุธ ทรงศิวิไล (Mr.Sarawut Songsivilai) รองอธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า "การลงนามความร่วมมือระหว่างกรมทางหลวง กับ วสท.ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือ ในระยะ 3 ปี (2559-2561) มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาส่งเสริม ศึกษาวิจัยด้านวิศวกรรมงานทาง ให้เจริญก้าวหน้า สอดคล้องกับนโยบายเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนของกระทรวงคมนาคม เนื่องด้วยตลอดระยะเวลา 103 ปีของการดำเนินงานของกรมทางหลวงเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ดูแลโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินทั่วประเทศ รวมระยะทางในความรับผิดชอบกว่า 60,000 กิโลเมตร และมีเป้าหมายจะพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อรองรับความเจริญก้าวหน้าของระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ รวมถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนและการขนส่ง จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับ วสท. ซึ่งเป็นองค์กรเสาหลักด้านวิชาชีพวิศวกรรมของประเทศไทย และเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมที่จะเข้ามาร่วมมือกันในการวิเคราะห์สภาพปัญหา รวมถึงการออกแบบและกำหนดมาตรการความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานวิศวกรรมการทางเดียวกันทั่วประเทศในอนาคต การดำเนินโครงการนำร่องยกระดับความปลอดภัยทางหลวงหมายเลข 4 หรือถนนเพชรเกษม เนื่องจากเป็นทางหลวงสายหลักที่ใช้ในการเดินทางสู่ภาคใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้สัญจรเป็นจำนวนมากทำให้มีปริมาณการจราจรหนาแน่นและเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ และวันหยุดยาวในครั้งนี้นับเป็นการผนึกกำลังของสององค์กรในการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาระบบการคมนาคมให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศ สำหรับโครงการนำร่องยังได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกองบังคับการตำรวจทางหลวงในการเข้ามาเป็นผู้ดูแลด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้โครงการนี้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ"
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า "สมัยก่อนที่สร้างถนนทางหลวงนั้น ประเทศเรายังมีประชากรน้อย กิจกรรมทางการขนส่งและเศรษฐกิจก็เบาบาง แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก 2 ด้าน ที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการคมนาคมขนส่งคือ 1.) การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อม เช่น การขยายตัวและเปลี่ยนตำแหน่งของชุมชน เมือง ธุรกิจ อุตสาหกรรม, มีการใช้รถยนต์ จักรยานยนต์และจักรยานมากขึ้น, มีรถพ่วงยาววิ่งบนทางหลวงจำนวนมาก, มีป้ายโฆษณาตามไหล่ทางทำให้บดบังทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ รวมถึงการมีฝุ่นละอองจำนวนมากทำให้ลดประสิทธิภาพของสัญญาณและป้ายนำทางได้ 2.) การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ยานพาหนะ มีขนาดใหญ่มีรถพ่วงที่ยาวขึ้น, มีการพัฒนายานพาหนะให้มีอัตราเร่งดีขึ้น ความเร็วมากขึ้น, รถขนาดเล็กมีมากขึ้นและสมรรถนะสูงขึ้น และอีกประการหนึ่งแสงสว่างของป้ายโฆษณา LED สว่างจ้าและเป็นลักษณะวีดีโอทำให้กระทบและลดประสิทธิภาพในการมองเห็นของผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
ขณะที่ประเทศไทยจะก้าวเป็นฮับคมนาคมและโลจิสติกส์นั้นจำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพของการขนส่งที่รวดเร็ว ต้องมีถนนที่ปลอดภัย มีคุณภาพ โดยปรับมาตรฐานวิศวกรรมการทางและพัฒนายกระดับความปลอดภัยทางถนนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่นานาประเทศยอมรับ เพื่อลดอุบัติเหตุ ความเสียหายต่อเศรษฐกิจและชีวิตทรัพย์สิน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยครองแชมป์ตายจากอุบัติเหตุถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก สำหรับหลักการตรวจประเมินหาความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Assessment Model) เพื่อใช้เป็นต้นแบบมาตรฐานการปรับปรุงพัฒนาถนนทั่วประเทศในอนาคต พิจารณาจาก 3 ประเด็น คือ 1.) ภาพรวมของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด ได้แก่ ตำแหน่ง, ช่วงเวลา, ประเภทพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุ และประเภทของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น 2.) ตำแหน่งที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง โดยทำการวิเคราะห์จาก สถิติที่เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และคนในพื้นที่ 3.) การตรวจสอบความปลอดภัยบนถนน หรือ (Road Safety Audit) พิจารณาจาก สภาพถนน, สภาพอุปกรณ์, ผู้ใช้ถนน และประเภทของยานพาหนะ ทั้งนี้คณะทำงาน วสท. และกรมทางหลวงได้นำข้อมูลทั้ง 3 ส่วน มาสังเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดเพื่อกำหนดมาตรการที่ถูกต้องเหมาะสม และจัดทำเป็นแผนแม่บทต่อไป
โดย วสท. ได้จัดส่งคณะทำงานเพื่อร่วมกับกรมทางหลวงในการศึกษาวิเคราะห์ถึงปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างครอบคลุมรอบด้าน เนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนนนั้นมีความซับซ้อนทั้งในเรื่องของคน ยานพาหนะ และถนนและสภาพแวดล้อม อุบัติเหตุอาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือเกิดรวมกันหลายสาเหตุก็ได้ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดการสูญเสียจากสาเหตุทางถนนและสภาพแวดล้อมได้ โครงการนำร่องนี้ได้รับการสนับสนุนร่วมมือจากแขวงทางหลวงสมุทรสงคราม, เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ในการให้ข้อมูลและดำเนินการปรับปรุงถนนและอุปกรณ์ความปลอดภัยบนถนน รวมถึงกองบังคับการตำรวจทางหลวงที่จะสนับสนุนในเรื่องการกำหนดจุดพักรถ การเฝ้าระวัง การบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการสำหรับการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ สำหรับแผนในโครงการนำร่องยกระดับความปลอดภัยของถนนทางหลวงหมายเลข 4 (ช่วงทางแยกวังมะนาว-หัวหิน-อุทยานราชภักดิ์) รวมระยะทางประมาณ 111 กิโลเมตร ประกอบด้วย 3 ระยะ คือแผนระยะเร่งด่วนซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงแล้วบางส่วนแล้ว และกำหนดแล้วเสร็จก่อนเทศกาลปีใหม่ ส่วนแผนระยะกลางและระยะยาวดำเนินการหลังเทศกาลปีใหม่ 2559 เพื่อยกระดับความปลอดภัยอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ดร.มนตรี เดชาสกุลสม (Dr.Montri Dechasakulsom) ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์และตรวจสอบ กรมทางหลวง กล่าวว่า "ทางหลวงหมายเลข 4 หรือถนนเพชรเกษมเป็นถนนที่มีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก และมีอุบัติเหตุสูง รวมถึงสภาพถนนปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการขนส่งและการคมนาคมมากขึ้น จากการพิจารณาข้อมูลอุบัติเหตุในระบบสารสนเทศอุบัติเหตุบนทางหลวง (HAIMS) ของสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง พบว่าบนทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) มีอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่บริเวณแยกวังมะนาวถึงอุทยานราชภักดิ์ จำนวน 144 ครั้งในปี 2557 การกระจายตัวของอุบัติเหตุเมื่อแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ 1.) ช่วงแยกวังมะนาวถึงแยกเข้าจังหวัดเพชรบุรี 2.) แยกเข้าจังหวัดเพชรบุรีถึงสี่แยกชะอำ 3.) สี่แยกชะอำถึงพระราชวังไกลกังวล และ 4.) พระราชวังไกลกังวลถึงอุทยานราชภักดิ์ ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวควรได้รับการปรับปรุงความปลอดภัยเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุได้ในระยะยาว
ในด้านองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุ มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.) คนหรือผู้ใช้ถนน 2.) ยานพาหนะ และ 3.) ถนนซึ่งรวมถึงสิ่งแวดล้อมข้างทาง แม้ว่าปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจะเกิดจากคนเป็นส่วนใหญ่ คือมีมากถึงร้อยละ 95.7 แต่ถ้าพิจารณาอุบัติเหตุที่ถนนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว ถนนและสิ่งแวดล้อมจะมีส่วนเกี่ยวข้องถึงร้อยละ 27.6 การแก้ปัญหาอุบัติเหตุในปัจจัยด้านคน ในทางวิชาการแล้วการแก้ไขปัญหาด้านนี้จะทำได้ยาก เพราะจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และจากหลายมิติพร้อมๆ กัน สำหรับการปรับปรุงถนนและอุปกรณ์ความปลอดภัยบนถนนในแผนระยะเร่งด่วนบนทางหลวงหมายเลข 4 ที่จะดำเนินการในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ 2559 เช่น การตัดแต่งต้นไม้เพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางในการมองเห็น, การทำความสะอาดป้ายจราจร, การติดตั้งป้ายนำทางหรือขยายขนาดป้ายนำทาง, การติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและราวกันอันตรายในจัดวิกฤติ เป็นต้น และเพื่อให้การยกระดับความปลอดภัยของถนนในโครงการเป็นไปอย่างครบถ้วน ยังมีแผนระยะยาวที่จะดำเนินการเพิ่มเติมหลังเทศกาลปีใหม่ 2559 อีกหลายส่วน เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ดูดซับแรงปะทะจากการชน หรืออื่นๆ เป็นต้น
พ.ต.อ.อภิชาต โพธิจันทร์ (Pol.Col.Apichat Potijun) ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่า "ที่ผ่านมากองบังคับการตำรวจทางหลวงมีหน้าที่บริการประชาชนผู้ใช้ทางให้เกิดความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในเขตทางหลวงและทางพิเศษที่อยู่ในอำนาจรับผิดชอบ และ ควบคุมดูแลการใช้ทางหลวงให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัด เมื่อใกล้ถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ตำรวจทางหลวงก็พร้อมจะอำนวยความสะดวกและดูแลผู้ใช้รถใช้ถนนเต็มที่อย่างเช่นที่ผ่านมา ทั้งการตรวจวัดความเมาและยาเสพติด จัดจุดพักรถและระบายรถให้เร็วที่สุด โดยบูรณาการร่วมกับตำรวจท้องที่และอาสาสมัครหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ตามกองบังคับการตำรวจทางหลวงมีมาตรการให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัย ลดยอดอุบัติเหตุ และขอความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของท่านและเพื่อนร่วมเดินทางเอง"
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit