แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทสามารถรักษาผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยไม่มีต้นทุนทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้ารักษาระดับไว้ได้เกิน 78% และยังคาดว่าบริษัทจะสามารถสร้างกระแสเงินสดในระดับสูงได้อย่างสม่ำเสมอ โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 280-450 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศและมีผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจโดยไม่ทำให้โครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
อันดับเครดิตจะปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทประสบความสำเร็จอย่างสูงในการขยายธุรกิจหลักของบริษัท แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและราคารับซื้อไฟฟ้าที่จะลดลงสำหรับโครงการในอนาคตก็ตาม ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตจะปรับลดลงหากบริษัทไม่สามารถรักษาผลการดำเนินงานในระดับที่น่าพอใจและสร้างผลงานในธุรกิจให้ปรากฏอย่างต่อเนื่องได้ หรือไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดที่เพียงพอ หรือมีโครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงอย่างมาก
บริษัทบ่อพลอย โซล่าร์ จำกัด เป็นผู้ผลิตพลังงานทดแทน โดยก่อตั้งขึ้นในปี 2553 ต่อมาในปี 2555 บริษัทได้เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจบริการด้านสิ่งพิมพ์ในประเทศภายหลังจากที่บริษัทโรงพิมพ์ตะวันออกซื้อกิจการของบริษัทมาจากบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) ต่อมาในปี 2558 บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นหลัก จากการที่บริษัทสร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญให้แก่บริษัทโรงพิมพ์ตะวันออก ตลอดจนอนาคตที่ดีของธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัทโรงพิมพ์ตะวันออก
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความมีเสถียรภาพของกระแสเงินสดจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากกลุ่มบริษัทย่อยของบริษัทซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในปี 2555 บริษัทได้เริ่มดำเนินงานโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) 2 โครงการแรกในจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีขนาดกำลังการผลิตตามสัญญารวม 10 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2555 ต่อมาในปี 2557 บริษัทก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มเพิ่มขึ้นอีก 1 โครงการในจังหวัดลพบุรีซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตตามสัญญา 5 เมกะวัตต์ โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ทั้งนี้ โซลาร์ฟาร์มทั้งหมดของบริษัทดำเนินการภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงเป็นเวลา 10 ปี
ในช่วงปี 2557-2558 บริษัทลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) จำนวน 8 โครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีขนาดกำลังการผลิตตามสัญญารวม 1.5 เมกะวัตต์ โครงการโซลาร์รูฟท็อปมีสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟน. และได้ราคารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 6.55 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงเป็นเวลา 25 ปี ความมีเสถียรภาพของกระแสเงินสดจากโครงการโรงไฟฟ้าส่วนหนึ่งมาจากการมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าในราคาที่แน่นอนและมีความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินโดยผู้รับซื้อไฟฟ้าในระดับต่ำ
อันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่น่าพอใจตั้งแต่เริ่มดำเนินงาน โดย ณ เดือนมิถุนายน 2558 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทได้ดำเนินการผลิตครบแล้วทุกแห่ง ทำให้บริษัทมีขนาดกำลังการผลิตตามสัญญาทั้งสิ้น 16.5 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าของบริษัทมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า (Performance Ratio -- PR) เฉลี่ยที่ 78% บริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 17.8 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2556 เป็น 27.7 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2557 และ15.9 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงในครึ่งแรกของปี 2558 ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มกำลังผลิตในช่วงปี 2556-2558 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทสร้างรายได้ประมาณปีละ 200 ล้านบาทในช่วงปี 2556-2557 และ 180 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2558 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 90% ของรายได้รวม ทั้งนี้ บริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 30-32 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปีจากกำลังการผลิตทั้งหมดในปัจจุบัน หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 300-350 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงแนวโน้มการเติบโตของการใช้พลังงานทดแทนของประเทศไทยจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น แผนระยะยาวของภาครัฐในการพัฒนาพลังงานทางเลือก การสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทยังมีผลการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ปรากฏในระยะเวลาอันสั้น แม้ว่าบริษัทจะใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ Photovoltaic (PV) ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วก็ตาม ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้ได้ระดับผลผลิตที่มีเสถียรภาพในระยะยาวนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะต้องมีการออกแบบที่ดี อีกทั้งยังต้องเลือกใช้อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์และได้การรับรอง และจะต้องดำเนินการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนต้องมีการดูแลซ่อมบำรุงตามกำหนดเวลาด้วย ซึ่งผลงานของบริษัทตามเกณฑ์ที่ระบุข้างต้นนั้นยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป
นอกจากนี้ อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าด้วยเช่นกัน บริษัทต้องบริหารความเสี่ยงในการดำเนินโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบันและโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ อาทิ ความเสี่ยงจากความเพียงพอของบุคคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือที่ควบคุมและติดตามกระบวนการผลิต ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีซึ่งจะกระทบต่อโครงสร้างต้นทุน ความเสี่ยงจากการมีคู่แข่งมากขึ้นเนื่องจากการเป็นธุรกิจที่เข้ามาได้ง่าย ตลอดจนกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น ราคารับซื้อไฟฟ้าและการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น
อันดับเครดิตยังถูกลดทอนลงจากภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายการลงทุนของบริษัทด้วย โดยบริษัทมีแผนการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จะส่งผลต่อสถานะทางการเงินของบริษัทในช่วงปี 2558-2561 ซึ่งบริษัทมีแผนลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตตามสัญญารวม 48 เมกะวัตต์ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท โดยมีแผนก่อสร้างในช่วงปี 2559-2561
ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 85%-90% ในระหว่างปี 2558-2561 ทั้งนี้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยทั่วไปจะมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานสูงเนื่องจากได้รับ Adder สนับสนุนจากภาครัฐและการมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ต่ำ ราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทประกอบด้วย 3 ส่วน คือ อัตราค่าพลังงานไฟฟ้าขายส่งตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU) รวมกับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติขายส่งเฉลี่ย (Ft ขายส่งเฉลี่ย) และ Adder โดยโซลาร์ฟาร์มของบริษัทจะได้รับอัตราค่าไฟฟ้าประมาณ 11.5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ส่วนโซลาร์รูฟท็อปได้ราคารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ที่ 6.55 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 280-450 ล้านบาทต่อปี และเงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ในช่วง 230-350 ล้านบาทต่อปี
บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเท่ากับ 56.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงจาก 68.8% ณ สิ้นปี 2557 จากการชำระคืนเงินกู้ยืมของบริษัท อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 26% ในปี 2557 และ 27% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 โดยในช่วงปี 2558-2561 สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 50-55 เมกะวัตต์ และประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 75%-78% ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากสมมติฐานดังกล่าวคาดว่าจะอยู่ในช่วง 80-85 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี รายได้ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 300-500 ล้านบาทต่อปี อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 280-450 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะค่อย ๆ ลดลงจากการหมดอายุของ Adder ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ในช่วงปี 2558-2561 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 70%-75% จากการกู้ยืมของบริษัทเพื่อใช้ในการลงทุนบริษัท บ่อพลอย โซล่าร์ จำกัด (BP)อันดับเครดิตองค์กร: BBBแนวโน้มอันดับเครดิต: Stable