สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ แนะวิธีการดูแลและลดปัญหามะเร็งผิวหนัง

11 Jun 2015
สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ แนะแนวการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในผู้สูงวัยและการดูแลผิวเพื่อชะลอความเสื่อมสภาพ พร้อมการแก้ปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยในผู้สูงวัย สร้างความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ที่จะนำไปสู่การดูแลผิวพรรณที่ถูกวิธีและช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของผิว รวมทั้งลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น

รายงานข่าวจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปัจจุบันความนิยมที่อยากให้ผิวขาว ขาวมาก ๆ ยิ่งขาวยิ่งดี ตามเทรนด์เกาหลี ทั้ง ๆ ที่ผิวของคนไทยเป็นผิวที่มีสุขภาพดี มีเม็ดสีที่ช่วยป้องกันผิวจากแสงแดด ไม่เฉพาะการไหม้ แต่ยังป้องกันจากการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสภาพ และที่สำคัญที่สุดคือการเกิดมะเร็งผิวหนัง โดยโรคมะเร็งผิวหนังเป็นเนื้อร้ายที่เกิดบนผิวหนังและเยื่อบุ เนื่องจากการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ของผิวหนังและเยื่อบุที่ผิดปกติ จากสถิติปี 2550 พบว่าในประเทศไทย มะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 6 ในผู้ชาย และอันดับ8 ในผู้หญิง ถึงแม้ว่ามะเร็งผิวหนังส่วนน้อยจะมีการแพร่กระจาย และทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ แต่เป็นมะเร็งที่เราเห็นได้ง่ายและสามารถป้องกันได้ ดังนั้นเรามารู้จักมะเร็งผิวหนังกันก่อน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังนั้น โดยปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง ได้แก่ แสงแดด กรรมพันธุ์ สีผิว การสูบบุหรี่ พร้อมทั้งเผยว่าผู้ที่มีผิวคล้ำมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าคนผิวขาว ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในผู้สูงวัย เมื่อมีอายุมากขึ้นผิวหนังทุกชั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ความสามารถในการหมุนเวียนทดแทนเซลล์ผิวหนังเก่าก็จะลดลง เดิมผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจะมีการหลุดลอกและเปลี่ยนแปลงเซลล์ใหม่ทั้งหมด ในเวลาเพียง 4 สัปดาห์ วงจรนี้จะยาวออกเป็น 2 เท่า ทำให้ผิวหนังผู้สูงวัยมีลักษณะแห้งเป็นขุย มีสะเก็ดและหยาบ จะมีการลดลงของการหมุนเวียนและผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวหนัง ลดความสามารถในการสร้างสีและการป้องกันเชื้อโรค รวมทั้งความสามารถในการเก็บน้ำไว้ที่ผิวหนัง ผิวหนังกำพร้าจะบางลงมากถึง 50 % ระหว่างอายุ 30 ปีถึง 80 ปี เฉลี่ยประมาณ 5-6 % ต่อปี และจะบางลงมากเป็นพิเศษเมื่ออายุมากขึ้น บริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดดสม่ำเสมอ เช่น ใบหน้า คอ หลังมือ แขนด้านนอก ชั้นหนังแท้มีความหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนประกอบหลักคือ คอลลาเจน รองลงมาคือ เส้นใยอิลาสติน และสาร Hyaluronic acid มีคุณสมบัติสามารถดูดซับน้ำไว้ในชั้นหนังแท้ สารเหล่านี้ล้วนทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น เต่งตึง มีความยืดหยุ่นที่ดี มะเร็งผิวหนังมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีอาการแตกต่างกัน ดังนี้

ชนิดที่เรียกว่าแอคทีนิค คีราโตซิส(Actinic keratosis) : พบบ่อยตั้งแต่อายุ 50-80 ปี ตำแหน่งที่พบได้บ่อย คือ บริเวณที่ถูกแสงแดดจัด เช่น หน้าผาก หน้า หู คอ หลังมือและหลังแขน และศีรษะที่มีผมบาง ผู้ที่มีผิวขาว คนที่มีประวัติผิวไหม้จากแดด จะมีความเสี่ยงสูง อีกชนิดหนึ่งเป็นมะเร็งผิวหนัง ที่พบได้มากที่สุด เรียกว่า เบเซลล์ คาร์ชิโนมา ( Basal cell carcinoma ) : มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อนูนสีเดียวกับผิวหนัง หรือ ชมพูใสผิวมัน หากขนาดใหญ่ขึ้นอาจเกิดแผลตรงกลางมีขอบยกนูน

อีกชนิดเรียกว่าสแควมัสเซลล์ คาร์ชิโนมา ( Squamous cell carcinoma) : มักจะเกิดบริเวณที่โดนแดดมาก หรือเคยเป็นแผลเรื้อรังพบในอัตราส่วนที่น้อยกว่าชนิดแรกมาก มีการแพร่กระจายได้ แต่ในอัตราที่ช้า ยกเว้นหากเกิดบริเวณริมฝีปาก หู หรือในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต่ำเป็นพิเศษ และอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า แมลิกแนนท์ เมลาโนมา (Malignant melanoma) : หรือที่เรียกว่ามะเร็งไฝ เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบน้อยที่สุด แต่เป็นชนิดที่แพร่กระจายได้มากที่สุด เกิดจากเซลล์เม็ดสีมีการแบ่งตัวผิดปกติอาจลุกลามไปจุดสำคัญ เช่น สมองได้ สัญญาณของมะเร็งไฝ คือ ไฝที่เคยมีสีดำเพียงสีเดียวเปลี่ยนไปมีหลายสี เช่น บางส่วนมีสีจางลงหรือน้ำตาลเข้มจนถึงดำไล่กัน ขนาดของไฝ จะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอบไฝไม่ชัดเจน อาจมีอาการเจ็บคัน แตกเป็นแผล และมีเลือดออก หากผู้ใดมีอาการตามที่กล่าวมานี้ ควรไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยตรง เพื่อได้รับการรักษาที่ตรงจุดและทันท่วงที ทั้งนี้การตรวจร่างกายด้วยตนเองเป็นการรักษามะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุด โดยต้องสำรวจร่างกายตัวเองให้ทั่ว ซึ่งต้องใช้กระจกตั้งและกระจกมือช่วย โดยการยืนหน้ากระจกส่องข้างหน้า ข้างหลัง ด้านข้างซ้ายขวา ยกแขนขึ้นและตรวจแขน รักแร้ มือ หลังมือ ข้อศอก แล้วตรวจต้นขาด้านหน้า ด้านหลัง จากนั้นให้ตรวจหลัง คอด้านหน้า ด้านหลัง หนังศีรษะ และไรผม

การป้องกันมะเร็งผิวหนังและดูแลผิว เพื่อชะลอความเสื่อมสภาพประกอบด้วยการเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เหมาะสม มีค่าความเป็นด่างน้อย คือมี pH ประมาณ 5 และมีสารเพิ่มความชุ่มชื้น การทาโลชั่น ครีมหรือน้ำมัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนังหลังอาบน้ำทันที และงดการอาบน้ำอุ่นจัด การรับประทานอาหารครบหมู่ ร่วมกับวิตามินเสริม ได้แก่ แคลเซียม วิตามินดีชะลอความเสื่อมของกระดูกและกล้ามเนื้อ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารชะลอความเปลี่ยนแปลงของผิว ได้แก่ กรดวิตามินเอ กรดผลไม้ สารต้านอนุมูลอิสระ หากต้องถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานานกว่า 15-30 นาที ควรป้องกันแดด โดยการสวมหมวก แว่นกันแดด กางร่ม เสื้อแขนยาว และทาครีมกันแดด บริเวณใบหน้า คอ หรือหลังมือที่อยู่นอกร่มผ้า