น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากการรายงานผู้ติดเชื้อเอดส์ในประเทศไทย (สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค) พบว่า ตั้งแต่ ปี 2557 ถึง 31 ตุลาคม 2557 พบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 388,621 ราย และมีผู้เสียชีวิต 100,617 ราย พบมากสุดในกลุ่มวัยทำงาน ช่วงอายุระหว่าง 20 - 39 ปี สูงสุด ร้อยละ 25.83 รองลงมาคือ 25 - 29 ปี ร้อยละ 24.97 และต่ำสุดคือ 10 - 14 ปี ร้อยละ 0.23 ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รองลงมาคือ เกษตรกรรม ค้าขาย แม่บ้าน และรับราชการ และช่วงต้นปี 2558 นี้ (ข้อมูลจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร) พบว่า มีผู้ติดเชื้อแล้ว 61,109 ราย เสียชีวิต 3,341 ราย และจากข้อมูลยังพบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของชายรักชายถึง 1,066 ราย หรือร้อยละ 60 รองลงมาคือ ภรรยาติดเชื้อจากสามี 259 คน ร้อยละ 15 และกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด 162 คน ร้อยละ 9.1 ซึ่งผู้ติดเชื้อรายใหม่นี้ส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 25 ปี 974 คน โดยโรคเอดส์ถือเป็นปัญหาของประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่ใช่เฉพาะการเจ็บป่วยหรือการเป็นโรคเท่านั้น
ดังนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในฐานะเป็นองค์กรหลักด้านระบบบริการสุขภาพและระบบสุขภาพภาคประชาชน ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง ทั้งส่งเสริม พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เน้นให้ดำเนินงานอย่างเข้มข้นโดยการเฝ้าระวัง ป้องกัน สร้างเครือข่าย และการทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งพบว่าจังหวัดท่องเที่ยวมักพบผู้ติดเชื้อ เน้นย้ำให้อสม.ดำเนินการลงพื้นที่ กระตุ้นประชาชนให้เกิดความตระหนักในการป้องกัน การให้ความรู้โรคเอดส์ที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเอง และครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อาทิ เยาวชน ผู้ที่มีอาชีพเสี่ยง และกลุ่มแรงงานต่างด้าวรู้วิธีการป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่จะส่งผลไปสู่การทำแท้ง ลดปัญหาด้านสังคมของประเทศไทยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวต่อว่า เน้นให้ อสม. ลงพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน โดยอาศัยกลไกของตำบลจัดการสุขภาพในการแก้ปัญหาในระดับตำบลอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถพัฒนางานได้อย่างต่อเนื่อง โดยประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทีมหมอครอบครัว สาธารณสุขอำเภอ/จังหวัด โรงเรียน เป็นต้น โดย อสม.เป็นแกนนำรณรงค์ให้ความรู้ คนในชุมชนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา รับข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในครอบครัว/ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือเยาวชนให้เข้าใจ เข้าถึงโรคเอดส์ และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม รู้แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ติดเชื้อ และบุคคลในครอบครัว อสม.ต้องทำความเข้าใจให้กับชุมชน ประชาชน คนในครอบครัวให้การยอมรับ ไม่เลือกการปฏิบัติ สร้างความมั่นใจในการอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอดส์ได้ สร้างกำลังใจให้ผู้ติดเชื้อมีจิตใจที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ผู้ที่ติดเชื้อควรเปิดเผย เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ให้มีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดการยอมรับ สามารถดำเนินชีวิตกับครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีความสุขต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit