นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า หลังจากได้รับฟังการนำเสนอบทบาทภารกิจของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ แล้ว ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหาร เร่งดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้มีการวางรากฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ทั้งการยกร่างกฎหมายสำคัญ 8 ฉบับ การจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อจัดทำแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำหรับช่วงปลายปี 2558 นี้เป็นการดำเนินงานในระยะที่ 2 ซึ่งต้องทำให้สาธารณชนเข้าใจว่านโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ นำเสนอโครงการระดับชาติที่เป็นประโยชน์ในวงกว้างให้สามารถตอบโจทย์การทำงานของรัฐบาลทั้งในด้านความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ รวมถึงการสร้างบทบาทของกระทรวงฯ ในการวางโครงข่ายเพื่อเชื่อมโยงการศึกษาไปสู่ระดับชุมชนได้อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งภายในเดือนกันยายนนี้จะมีการพิจารณาบทบาท พันธกิจ เป้าหมาย รวมทั้งอัตรากำลังคนของคณะทำงานด้านต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการดังกล่าวให้มีความเหมาะสมและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยจะดำเนินการคู่ขนานไปกับโครงการระดับชาติของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับภารกิจหลักในภาพรวมของกระทรวงฯ ซึ่งจะมีการพิจารณารายละเอียดและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น ด้านกฎหมาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบางโครงการอาจจะต้องมีการทบทวนรายละเอียดอีกครั้งก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป ขณะที่การจัดทำร่างแผนแม่บท (Road Map) การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จะเร่งผลักดันให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยในด้านของการสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ กระทรวงฯ โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA จะเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน การส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ขณะที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ
นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการให้บริการภาคประชาชนในรูปแบบของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) การบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ซึ่งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA อยู่ในระหว่างการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐเพื่ออำนวย ความสะดวกให้ภาคธุรกิจและประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการด้านต่างๆ ของภาครัฐ ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา อยู่ในระหว่างการดำเนินการเรื่องข้อมูลด้านทรัพยากรทางอากาศ จากในระดับจังหวัดให้ลงลึกไปในระดับอำเภอซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อชุมชนและภาคการเกษตร ส่วนสำนักงานสถิติแห่งชาติจะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องจัดทำระบบข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เพื่อให้รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์หรือตัดสินใจในเชิงนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารประเทศ เช่น การทำธุรกิจชุมชนโดยคนในชุมชน
สำหรับรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงฯ โดยในส่วนของ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) และ บมจ.ทีโอที (TOT) นั้น ได้มอบหมายให้ผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานเดินหน้าแผนการฟื้นฟูองค์กรให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะกรณีข้อพิพาทกับเอกชน ให้เร่งเจรจาให้มีความคืบหน้าและหาข้อยุติร่วมกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่ บจ.ไปรษณีย์ไทย จะต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านการบริการ โดยใช้เครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นจุดแข็งในการแข่งขัน
นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะต้องมีบทบาทที่ชัดเจนในการอำนวยความสะดวกด้านการวางโครงข่ายเชื่อมโยงการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการศึกษาออกไปสู่ชนบทเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนในระดับชุมชน ส่วนในด้านความมั่นคงของประเทศที่มีเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น การแฮ็กเว็บไซต์ การลิงค์ข้อมูลกลางต่างๆ รวมถึงเว็บไซต์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและจะต้องมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง