มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ

01 Sep 2015
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระดับชุมชนและกระจายความเจริญเติบโตไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอรวม 3 มาตรการ โดยมีรายละเอียดของมาตรการดังต่อไปนี้

1. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน

1.1 วัตถุประสงค์ของโครงการ : การให้สินเชื่อกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนฯ) ที่ได้รับการจัดชั้นเป็นกองทุนระดับ A และ B จากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กองทุนฯ ละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขไม่ให้กองทุนฯ Refinance หนี้เดิม เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานให้กับกองทุนฯ กำหนดวงเงิน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วยวงเงินสินเชื่อของธนาคารออมสิน 30,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 30,000 ล้านบาท

1.2 อัตราดอกเบี้ยและระยะเวลา : กำหนดให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อกับกองทุนฯ ระยะเวลา 7 ปี นับจากวันลงนามในนิติกรรมสัญญา และดำเนินการทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2558 โดยกำหนดให้กองทุนฯ ให้สินเชื่อกับสมาชิกกองทุนฯ โดยมีเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย ดังนี้

(1) ปีที่ 1 - 2 ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี

(2) ปีที่ 3 - 7 ในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงิน (Financing Cost) บวกด้วยร้อยละ 1.0 ต่อปี

2. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล

2.1 วัตถุประสงค์ของโครงการ : เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน ผู้มีรายได้น้อยอ่อนแอลง โดยมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบลจะช่วยให้เกิดการจ้างงานการบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการจัดสรรงบประมาณลงในระดับตำบล

2.2 สาระสำคัญ : ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล โดยจัดสรรงบประมาณให้ในระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท (จำนวน 7,255 ตำบล คิดเป็นเงิน 36,275 ล้านบาท) และเร่งรัดการใช้จ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558เพื่อดำเนินโครงการที่มีการจ้างแรงงานหรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริการในจังหวัดในลักษณะดังต่อไปนี้

(1) โครงการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ การซ่อมแซมสถานพยาบาล โรงเรียน ตลาดกลาง และการปรับปรุง และฟื้นฟูแหล่งขยะ เป็นต้น

(2) โครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกพืชใหม่ที่มีตลาด การเปลี่ยนแปลงอาชีพ การสร้างฝาย และการปลูกต้นไม้หรือป่าชุมชน เป็นต้น

(3) โครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ ของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ การปรับปรุงซ่อมแซม ศูนย์เด็กเล็ก และศูนย์บริการผู้สูงอายุ เป็นต้น

3. มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ

3.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้ง ในส่วนกลางและต่างจังหวัด

3.2 สาระสำคัญ : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ยกเว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ที่มีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ จัดทำแผนการดำเนินการรายการที่มีลักษณะเป็นรายจ่ายลงทุนที่มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงาน วงเงินในการดำเนินการจัดซื้อ/จัดจ้าง รายการละไม่เกิน 1 ล้านบาท และต้องดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยให้ขอรับการจัดสรรงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

(2) ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ดำเนินการตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว โดยจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กนี้ โดยเฉพาะรายการรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้ดำเนินการ ลงนามในสัญญาและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2558

ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และกระจายการลงทุนไปในพื้นที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด ตลอดจนผลักดันให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างทั่วถึง