เกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าว แพทย์หญิงวีณา ครุฑสวัสดิ์ ผู้อำนวยการแพทย์และสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์การมีบุตรยาก ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนที่มีผลสำเร็จด้านอัตราการตั้งครรภ์ในระดับสากลและมีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย เปิดเผยว่า งานสัมมนาดังกล่าว จะช่วยให้สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ทั่วเอเชีย สามารถเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้มีบุตรยากเฉพาะบุคคลให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง และเพื่อสามารถนำความรู้จากการสัมมนาครั้งนี้ กลับไปต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่ประเทศของตนได้
"จากการสัมมนาในครั้งนี้ เราได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างคณะแพทย์จากประเทศต่างๆในเอเชียมากถึง 9 ประเทศ เกี่ยวกับแนวทางการรักษาผู้มีบุตรยาก เช่น การตอบสนองของคนไข้ต่อการกระตุ้นไข่ การให้ยาเตรียมโพรงมดลูก และอื่นๆ ซึ่งแนวทางการรักษาในแต่ละประเทศมีมาตรฐานเดียวกันเทียบเท่าระดับสากล แต่สิ่งที่ต่างกันคือประสบการณ์ของแพทย์แต่ละท่านที่มีโอกาสเจอกรณีศึกษาที่น่าสนใจแตกต่างกัน ดังนั้นจึงถือว่าการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก ทำให้เราสามารถนำความรู้มาปรับใช้กับคนไข้ในแต่ละประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงระบบการรับคนไข้และการทำงานร่วมกับแพทย์และโรงพยาบาลในทั่วเอเชีย เนื่องจากคนไข้ของศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที ส่วนใหญ่เป็นคนไข้ต่างชาติซึ่งได้รับการส่งต่อมาจากแพทย์ในต่างประเทศ จึงมีประสบการณ์ในการดูแลคนไข้กลุ่มนี้เป็นอย่างดี และจากผลลัพธ์ความสำเร็จที่ปรากฏทำให้เราเป็นที่ยอมรับและได้รับการไว้วางใจจากแพทย์นานาชาติ"
แพทย์หญิงวีณายังกล่าวอีกว่า สำหรับโรคทางพันธุกรรมที่มักพบในแต่ละประเทศก็จะมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านอุบัติการณ์ ความชุกของโรค และความเสี่ยงที่จะพบความผิดปกติ ซึ่งเราก็สามารถใช้เทคนิคพีจีดี ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมของตัวอ่อน และเลือกตัวอ่อนที่ปราศจากโรคทางพันธุกรรมและมีคุณภาพดีที่สุด ด้วยการสังเกตพัฒนาการและรูปร่างลักษณะของตัวอ่อนเป็นหลัก เพื่อย้ายกลับสู่โพรงมดลูก ซึ่งเทคนิคพีจีดีนับเป็นเทคนิคที่แพทย์ต่างชาติให้การยอมรับเป็นอย่างมาก
"โดยปกติแล้ว พ่อแม่ที่เป็นพาหะ จะมีการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมไปสู่ลูก ซึ่งมีมากมายหลากหลายโรค หรือคุณแม่ที่มีปัญหาการแท้งซ้ำซาก มีปัญหาการมีบุตรยาก ก็สามารถใช้เทคนิคพีจีดีได้ ดังนั้นการวางแผนการมีบุตรจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ทำให้สามารถที่จะตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อน เพื่อคัดตัวอ่อนที่พันธุกรรมผิดปกติออกไปได้ การใช้วิธีเด็กหลอดแก้วร่วมกับพีจีดี จึงเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในการคัดกรองโรคทางพันธุกรรมในตัวอ่อนและช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์มากยิ่งขึ้น และถ้าดูจากตัวเลขของทางศูนย์เองปัจจุบันพบว่าคนไข้ส่วนใหญ่มักมาด้วยปัญหาการมีบุตรยาก 60% และอีก 40% มาด้วยปัญหาโรคพันธุกรรม ซึ่งถือได้ว่าคนไข้ส่วนใหญ่มีการตื่นตัวในการป้องกันเพิ่มมากขึ้น" แพทย์หญิงกล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit