นางสาวสุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวอ้างว่า สภาเกษตรกร จังหวัดอ่างทอง ร่วมกับสภาเกษตรภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง จะยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เรื่อง การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ขาดแคลนน้ำมีราคาแพงมาก และสูบน้ำจากบ่อน้ำบาดาลได้ปริมาณน้อย เพราะท่อสูบน้ำมีขนาดเล็กแตกต่างจาก 'ช่าง' ที่ชาวนาจ้างมาขุดเอง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าหลายเท่า มีคุณภาพน้ำดี สูบน้ำได้มากกว่า และยังขุดเจาะรวดเร็วกว่า นั้น ขอเรียนว่า การเจาะน้ำบาดาล โดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถเจาะเอกชนทั่วไป เนื่องจาก เครื่องจักรเจาะน้ำบาดาลของกรมทรัพยากร น้ำบาดาลเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ สามารถเจาะผ่านชั้นดิน ชั้นหินได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตะกอนร่วน หรือหินแข็ง ทำให้เจาะน้ำบาดาลได้ในระดับที่ลึกกว่ารถเจาะทั่วไปของเอกชน สำหรับการเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเจาะที่ความลึกโดยเฉลี่ย 100 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางบ่อ 6 นิ้ว ใช้ท่อพีวีซีหนา (ชั้นคุณภาพ 13.5) ในขณะที่รถเจาะเอกชนซึ่งคิดค่าใช้จ่ายในราคาถูก จะเจาะได้เฉพาะในพื้นที่ที่เป็นตะกอนร่วนเท่านั้น ไม่สามารถเจาะผ่านชั้นหินแข็งได้ ส่วนใหญ่เจาะที่ความลึกโดยเฉลี่ย 20-30 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 นิ้ว ใช้ท่อพีวีซีบาง (ชั้นคุณภาพ 5-8.5) ทำให้ได้บ่อน้ำบาดาลที่มีมาตรฐานต่างกัน ประสิทธิภาพการให้น้ำของบ่อที่มีลักษณะใหญ่ย่อมให้น้ำได้มากกว่า
นอกจากนี้ บ่อน้ำบาดาลที่เจาะโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะมีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ในขณะที่บ่อน้ำบาดาลขนาด 3-4 นิ้ว ที่เจาะโดยเอกชน มีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี และบางแห่งใช้งานได้เพียง 1-3 เดือน กรณีที่ระดับน้ำบาดาลลดลง ซึ่งเครื่องสูบน้ำแบบเทอร์ไบน์ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเลือกใช้สามารถสูบน้ำได้ในระดับลึก แม้ระดับน้ำลดลง เครื่องสูบน้ำยังสามารถทำงานได้ตามปกติ หากเปรียบเทียบกับเครื่องสูบน้ำที่เกษตรกร เรียกโดยทั่วไปว่า "ปั๊มหอยโข่ง" จะสามารถสูบน้ำได้ในระดับลึกไม่เกิน 8 เมตร หากลึกมากกว่านั้น เกษตรกรต้องทรุดบ่อ (ขุดดินรอบบ่อน้ำบาดาลแล้วใส่วงคอนกรีต เพื่อตามระดับน้ำลงไปแล้วนำเครื่องสูบลงไปติดตั้ง) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีผู้ที่ลงไปขุดดินทรุดบ่อ เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจนางสาวสุทธิลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานโครงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วน ประจำปี 2558 ล่าสุดมีการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จ จำนวน 473 แห่ง จาก 511 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 92.56 ปริมาณน้ำบาดาลที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ จำนวน 205,814 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนการติดตั้งเครื่องสูบน้ำของบ่อสังเกตการณ์ ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 217 แห่ง จาก 380 แห่ง ปริมาณน้ำบาดาล ที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ จำนวน 32,550 ลูกบาศก์เมตร ต่อวัน ทั้งนี้ หากดำเนินการตามแผนงานแล้วเสร็จภายใน สิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะสามารถช่วยเหลือพื้นที่เกษตรให้สามารถสูบน้ำบาดาลมาใช้ได้ 350,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากน้ำบาดาลไม่น้อยกว่า 150,000 ไร่ หรือไม่น้อยกว่า 4,000 ครัวเรือน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit