นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. กล่าวถึงโครงการ“สุดยอดภูมิปัญญา เครื่องเบญจรงค์ไทย”ว่า “เครื่องเบญจรงค์” เป็นงานด้านศิลปหัตถกรรมของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในอดีตใช้การสั่งทำที่ประเทศจีนตามความคิดและลวดลายของไทย ต้นกำเนิดของเบญจรงค์ใช้สีวาดระบายเพียง 3 สี ต่อมาได้พัฒนาเป็น 5 สี คือ สีขาว สีเหลือง สีดำ สีแดง และสีเขียว (คราม) ดังนั้น ชื่อที่เรียกว่า “เบญจรงค์” หมายถึง เครื่องเคลือบที่มีการวาดสีลงไป 5 สี มีการออกแบบลวดลายต่างๆ ด้วยการวาดที่รู้จัก ได้แก่ ลายกนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเทพพนม ลายนรสิงห์ รวมตลอดถึงลวดลายดอกไม้ ลายสัตว์ และลวดลายจากเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น ด้วยลวดลายที่วาดลงในเครื่องเบญจรงค์สะท้อนถึงภูมิปัญญาชาวบ้านมีวัฒนธรรม ตามความเชื่อของไทย และวิถีชีวิตของไทย
สำหรับโครงการประกวด “สุดยอดภูมิปัญญา เครื่องเบญจรงค์ไทย” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ภายใต้หัวข้อ “วิถีชีวิตอาเซียน” ไม่ว่าจะเป็นลวดลายที่สื่อให้เห็นถึง ประเพณี การละเล่น เครื่องแต่งกาย ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของประเทศในกลุ่มอาเซียน มีเป้าหมายเพื่อต้องการอนุรักษ์ และเผยแพร่งานเครื่องเบญจรงค์ไทย ที่เป็นงานหัตถศิลป์อันล้ำค่า มีความประณีตสวยงาม บ่งบอกถึงวิถีวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นไทย นำอวดสู่สายตาชาวต่างชาติ อีกทั้งโครงการดังกล่าว จะยังเกิดประโยชน์โดยตรงต่อครูช่าง และช่างฝีมือเครื่องเบญจรงค์ไทย ได้รับโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ พร้อมนำมาพัฒนาผลงานของตนเอง ตลอดจนสามารถต่อยอดงานฝีมือสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเปิดตลาดในกลุ่มประชาคมอาเซียน หรือ เออีซี ช่วงปลายปี 2558 นี้
“โดยผลการตัดสินโครงการการประกวด “สุดยอดภูมิปัญญา เครื่องเบญจรงค์ไทย” ประจำปี 2558 ผู้ที่คว้ารางวัลที่ 1 คือ “วิไลวรรณ ใช้บางยาง” เจ้าของผลงาน “โถชั้น 9 นิ้ว" ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมด้วยเงินรางวัล 70,000 บาท สำหรับรางวัลที่ 2 “พนิดา แต้มจันทร์” เจ้าของผลงาน “โถชมจันทร์ลายบุษบาแห่งอาเซียน” รับใบประกาศนียบัตรพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลที่ 3 “วิฑูรย์ เจียวเจริญ” ชื่อผลงาน “ศูนย์รวมใจ” รับใบประกาศนียบัตรพร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท นอกจากนี้ยังมีอีก 8 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบ จะได้รับใบประกาศนียบัตรจาก ศ.ศ.ป. ซึ่งขั้นตอนการตัดสินปีนี้ เราได้รับเกียรติจากคณะกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ มาร่วมพิจารณาผลงาน เช่น กลุ่มจิตรกรรมสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินกลุ่ม “นา”บ้านเบญจรงค์แกลลอรี่ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประเภทเครื่องดิน ปี 2556 ผู้เชี่ยวชาญการเขียนลายเบญจรงค์ กลุ่มบ้านเบญจรงค์เมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และ ศ.ศ.ป. โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาผลงานเช่น ต้องตรงตามวัตถุประสงค์และหัวข้อของการประกวด มีแนวความคิด แรงบันดาลใจและเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญา มีคุณภาพความสวยงามและอรรถประโยชน์ของผลงาน หมายถึง ความพึงพอใจที่ผู้บริโภคจะได้รับ รวมทั้งองค์ประกอบการจัดวางและสัดส่วน ความเป็นไปได้ในการนำไปพัฒนาต่อในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม นอกจากผลงาน 11 ท่าน ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว ยังมีอีก 19 ผลงาน ที่จะถูกนำมาจัดแสดงภายใน “งานแสดงจิตรกรรมเครื่องกระเบื้องนานาชาติ ครั้งที่ 2 หรือ Thailand International Porcelain Painting Convention 2015 (TIPP 2015)” มีกำหนดงานขึ้นในระหว่างวันที่ 6-9 มีนาคม 2558 ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ 035-367-051 ต่อ 1356 คุณปาณัสม์ ปลอดมีชัย 03-536-7051 ต่อ 1356 , คุณกิตติภพ ศุภหิรัญ 088-020-6202 หรือติดตามได้ที่ www.sacict.or.th, www.facebook.com/thaibenjarongcontest ประกวดสุดยอดภูมิปัญญา "เครื่องเบญจรงค์ไทย"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit