นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสรับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ในการประชุมสัมมนาประจำปี เรื่อง “สภาเกษตรกรแห่งชาติกับการปฏิรูปภาคการเกษตรที่ยั่งยืน” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ปี 2558 ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ภาคเกษตรกรเห็นว่า สามารถสร้างความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรม ประกอบด้วย 1.ร่างพระราชบัญญัติ 7 ฉบับ แบ่งเป็น การจัดสวัสดิการเกษตรกร 1 ฉบับ การแก้ไขปัญหาที่ดินที่ร่วมผลักดันกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน 4 ฉบับ การยาง 1 ฉบับ และเกษตรกรรมยั่งยืน 1 ฉบับ 2.ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ด้านสับปะรด 1 ฉบับ 3.ข้อเสนอเชิงนโยบาย 13 เรื่อง คือ การสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร องค์กรเกษตรกร, การบริหารจัดการข้าวและชาวนายั่งยืน, ยุทธศาสตร์ยางพารา, ยุทธศาสตร์สับปะรดไทย, ยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง, ยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมัน, ยุทธศาสตร์การพัฒนาลำไย, ยุทธศาสตร์โคเนื้อ-กระบือ, ยุทธศาสตร์การพัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม, การแก้ปัญหาอุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างยั่งยืน,ไม้ดอก ไม้ประดับ นาเกลือ และการแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้งภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างยั่งยืน
นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรกรรมจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ ทั้งเรื่องสินค้าเกษตร และปัญหาภัยแล้ง ซึ่งรัฐบาลได้นำไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานที่ผ่านมาอาจติดปัญหาด้านกลไกทำให้การดำเนินงานล่าช้า จึงต้องปรับปรุงกลไกในการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งกลไกในแง่ของการช่วยเหลือทางเทคนิค และกลไกการเยียวยาแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ นอกจากข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินงาน 2 เรื่อง คือ 1.ประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและสภาเกษตรกรแห่งชาติในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความกระชับมากยิ่งขึ้น โดยสภาเกษตรกรมีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อกลางให้แก่เกษตรกร ซึ่งความเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาล สภาเกษตรกร และองค์กรเกษตรกร จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว 2. เน้นความสำคัญการมีส่วนร่วมระดับพื้นที่ เพราะเมื่อปราศจากความช่วยเหลือจากสภาเกษตรกรแล้ว การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลจะเป็นไปอย่างล่าช้า และความเข้าใจต่างๆ ที่จะสื่อสารไปถึงเกษตรกรจะเกิดขึ้นน้อย จึงต้องสร้างกลไกประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพและเข้มแข็งมากขึ้น
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ภาคเกษตรกรต้องการสร้างความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรมนั้น ควรให้ความสำคัญในการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1. สร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตกับการบริโภคภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสินค้ายางพารา มันสำปะหลัง ข้าว และสินค้าอื่นๆ โดยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้น 2. ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการผลิตในประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการแข่งขันผลิตสินค้าในอาเซียนเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการพัฒนาคุณภาพการผลิตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง และ 3. ส่งเสริมให้แรงงานในภาคเกษตรมีหลักประกันคุณภาพ เนื่องจากปัจจุบันแรงงานในภาคอื่นๆ มีหลักประกันคุณภาพ แต่แรงงานในภาคเกษตรยังไม่มีหลักประกัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและดูแลแรงงานภาคเกษตรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit