เผยผู้ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างของสภาคณาจารย์ ม.มหิดล ประจำปี ๒๕๕๗

13 Jan 2015
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์วิรุณ บุญนุช ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศเชิดชูเกียรติอาจารย์ผู้มีความสามารถในเชิงวิชาการ มีจริยธรรม และอุทิศตนในด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๗ จำนวน ๔ ท่าน โดยจะเข้ารับรางวัลในงาน “๔๖ ปี วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล” ๒ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉราพรรณ จรัสวัฒน์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “แผนยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความสมานฉันท์และสันติวิธีแห่งชาติ” ริเริ่มสร้างสรรค์หลักสูตรการศึกษาการทหารระดับสูง ให้แก่วิทยาลัยกองทัพเรือ และศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารบก เป็นครูผู้อุทิศตนให้นักศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ และผลการวิจัยที่ทันสมัยมาสอนและพัฒนานักศึกษาอยู่เสมอศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานการวิจัยเด่นในสาขาดาราศาสตร์ฟิสิกส์และอนุภาคพลังงานสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลอนุภาคพลังงานสูงจากพายุสุริยะ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในสังคมไทยและสังคมโลก มีความมุ่งมั่น กระตือรือร้น และทุ่มเทสูง ทั้งในด้านการเรียนการสอน การวิจัย มีจิตใจและวิญญาณของความเป็นครู เป็นที่นับถือของนักศึกษาทุกระดับปริญญา

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุพจน์ พงศ์ประสบชัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะในด้านโรคตับอ่อนและการส่องกล้องแคปซูลมาเผยแพร่ให้ตามทันต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่องกล้องแคปซูล เป็นผู้ริเริ่มการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การอ่าน Capsule Endoscopy” ให้แก่แพทย์ผู้สนใจทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๒ ตลอดจนเป็นผู้เขียนหนังสือ “เคล็ดลับครูแพทย์คลินิก” เล่มแรกในประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เป็นอย่างมาก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ หัวหน้าโครงการวิจัย “หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก”, “ระบบคอมพิวเตอร์เสริมการวินิจฉัยสำหรับโรคมะเร็ง” และ “ระบบฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง : ส่วนมือและแขน” ได้รับรางวัลมากมายจากผลงานวิจัยและการประดิษฐ์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เป็นอาจารย์ที่ทำวิจัยเพื่อสังคม ด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ