นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ช่วงไตรมาสที่ผ่านมาเริ่มมีความคึกคักเข้าเยี่ยมชมสำนักงานขายโครงการต่างๆของผู้บริโภค อีกทั้งยอดขายก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกันแตกต่างจากช่วงก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมหลายรายเปิดขายโครงการใหม่ในช่วงปลายของไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 หลายโครงการ อีกทั้งหลายโครงการยังสามารถปิดการขายได้ในระยะเวลาไม่นานหลังจากเปิดขายไปไม่กี่วัน โดยเฉพาะโครงการของผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ในทำเลดีๆ ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT อีกทั้งบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้นทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งรวมทั้งการเข้ามาลงทุนเอง และร่วมมือกับกลุ่มทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนชาวเอเซียที่เข้ามามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากที่มีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในไตรมาสที่ 3 โดยส่วนใหญ่สนใจลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังสนใจในโครงการรูปแบบพาณิชยกรรมอื่นๆ เช่น อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ศูนย์ค้าปลีก – ส่งขนาดใหญ่ โรงแรม และไม่เพียงแต่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจังหวัดท่องเที่ยวชายทะเลบางแห่ง เช่น พัทยา หัวหิน ภูเก็ต และจังหวัดทางภาคเหนืออย่าง เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น
“สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ ก็มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นทั้งอาคารสำนักงานที่ความต้องการพื้นที่ในอาคารสำนักงานเพิ่มสูงขึ้นจากการที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาหาเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานต่อเนื่องจากช่วงปีก่อนหน้านี้ รวมทั้งบริษัทไทย และต่างชาติที่ขยายพื้นที่สำนักงานของตนเองให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น นอกจากนี้ค่าเช่าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเช่นกันโดยค่าเช่าในปัจจุบันสูงที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งยังรวมถึงอัตราการเช่าด้วยที่สูงที่สุดในช่วง 6 – 7 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน โครงการพื้นที่ค้าปลีกซึ่งอาศัยกำลังซื้อภายในประเทศเป็นหลักก็ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายโครงการเปิดให้บริการ และอยู่ระหว่างการเปิดให้บริการในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า หลายโครงการในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนร้านค้าให้เหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ศูนย์การค้าในเขตกรุงเทพมหานครชั้นในมีการปรับร้านค้าโดยการเพิ่มร้านค้าระดับ Luxury ให้มากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการซื้อสินค้าแบรนด์เนม ในขณะที่คอมมูนิตี้มอลล์ก็ยังคงเป็นรูปแบบพื้นที่ค้าปลีกที่มีการขยายตัวต่อเนื่องจาก 3 – 4 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงเป็นรูปแบบที่มีปัญหามากที่สุดเช่นกัน เพราะบางโครงการไม่สามารถรักษาความนิยมไว้ได้ต่อเนื่องทำให้บางโครงการต้องปิดตัวลงไป” นายสุรเชษฐ กล่าวเพิ่มเติมสำหรับสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีพ.ศ.2558 ซึ่งหลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าจะดีขึ้นอย่างมากนั้น ยังคงต้องรอดูสถานการณ์ในปีหน้าก่อนว่ามีปัจจัยอะไรที่อาจจะมีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ หรือว่าความเชื่อมั่นของคนไทยจะกลับมามากขึ้นกว่าปีพ.ศ.2557 หรือไม่ ในตลาดคอนโดมิเนียมนั้นฝั่งของผู้ประกอบการแสดงความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในปีหน้าอย่างเห็นได้ชัด โดยสามารถดูได้จากการประกาศแผนการลงทุนในปีพ.ศ.2558 ที่หลายบริษัทประกาศออกมาพบว่ามีจำนวนมากกว่าปีพ.ศ.2557 ซึ่งคาดว่าในปีพ.ศ.2558 จะมีคอนโดมิเนียมเปิดขายมากกว่า 50,000 ยูนิตหรือมากกว่าปีนี้ประมาณ 20% ในขณะที่ฝั่งของกำลังซื้อก็จะดีขึ้นกว่าปีพ.ศ.2557 แน่นอนแต่อาจจะไม่มากเพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สร้างกังวลอยู่ เช่น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะยางพารา ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออกของประเทศไทย รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติซึ่งจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น ในปีพ.ศ.2558 หลายบริษัทกลับไปให้ความสำคัญกับตลาดต่างจังหวัดอีกครั้งแต่อาจจะมีจำนวนโครงการไม่มากเท่ากับ 2 – 3 ปีก่อนหน้านี้ ในกรุงเทพมหานครพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้ายังคงเป็นทำเลยอดนิยมของผู้ประกอบการทั้งหลาย รวมทั้งทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ่าส่วนต่อขยายที่กำลังก่อสร้างอยู่ ในขณะที่ปีพ.ศ.2558 จะมีอีกหลายเส้นทางที่รัฐบาลมีแผนเปิดการประมูลซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยให้มีการขยายตัวออกไปตามแนวเส้นทางเหล่านั้นมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการต้องการควบคุมให้ราคาขายไม่สูงเกินไปทำให้โครงการที่มีราคาไม่แพงจำต้องอยู่ไกลออกไปจากพื้นที่กรุงเทพหานครชั้นใน เนื่องจากราคาที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายปัจจุบันนั้นสูงเกินไปไม่เหมาะสำหรับโครงการราคาไม่แพง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน เช่น สุขุวิท สีลม สาทร เพลินจิต ที่โครงการคอนโดมิเนียมที่จะเปิดขายใหม่ในปีพ.ศ.2558 และในอนาคตจะมีราคาขายมากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตรแน่นอน และอาจจะขึ้นไปมากกว่า 300,000 บาทต่อตารางเมตร
“ตลาดอาคารสำนักงานยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีพ.ศ.2557 ราคาค่าเช่า และอัตราการเช่าก็ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน เพราะว่าความต้องการยังคงมีต่อเนื่อง และน่าจะมากกว่าปีนี้ ในขณะที่อุปทานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะเพิ่มเข้ามาในอนาคตก็มีไม่มากนักโดยเฉพาะอาคารสำนักงานเกรด A ในเขตศูนย์กลางธุรกิจซึ่งราคาที่ดินสูงเกินไปไม่เหมาะจะพัฒนาอาคารสำนักงาน เนื่องจากไม่ค้มค่าต่อการลงทุน ตลาดพื้นที่ค้าปลีกยังคงขึ้นอยู่กับกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก ผู้ประกอบรายใหญ่ขยายช่องทางการสร้างรายได้ไปยังจังหวัดอื่นๆ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดหัวเมือง และจังหวัดชายแดนเพื่อรองรับกำลังซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงปลายปีพ.ศ.2558 รวมทั้งกำลังซื้อในจังหวัดหัวเมืองที่กำลังปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นในภาพรวมแล้วปีพ.ศ.2558 น่าจะเป็นปีที่ดีอีกปีของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย แต่ยังคงต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะปัจจัยจากภายนอกประเทศที่อาจจะมีผลต่อการส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งอาจจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของคนไทยก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ถ้าความเชื่อมั่นของคนไทยกลับมาเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ก็จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีอนาคตที่สดใสแน่นอน” นายสุรเชษฐ กล่าวสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit