กรมสุขภาพจิต ชวน ชูพลังใจ เติมความสดใสให้ออทิสติก คาด เด็กไทยป่วยออทิสติก กว่า 3.7 แสน รักษาเร็ว ได้ผลเร็ว

          เมื่อวันที่ 2 เม.ย.58 กรมสุขภาพจิต โดย รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จัดงานรณรงค์เนื่องในวันออทิสติกโลก ประจำปี 2558 ในหัวข้อ “Light it up blue ชูพลังใจ เติมความสดใส ให้ออทิสติก” ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยออทิสติก มีประมาณ 3.7 แสนคน สัญญาณเตือน ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว แนะ พ่อแม่ เข้าใจ ยอมรับ รักษาเร็ว ได้ผลเร็ว
          พญ.รัชนี ฉลองเกื้อกูล ผอ.รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าวว่า วันที่ 2 เม.ย.ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้เป็นวันออทิสติกโลก ซึ่งปัจจุบัน พบว่า โรคออทิสติกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จากรายงานการสำรวจของประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ.2553 พบว่า ความเสี่ยงของการเป็นโรคออทิสติกมีถึง 1 ต่อ 88 คน ล่าสุด ปี พ.ศ.2557 มีโอกาสพบ 1 ต่อ 68 คน และจากการสำรวจอย่างเป็นทางการของประเทศไทย คาดว่าความเสี่ยงน่าจะไม่ต่างจากในระดับโลกมากนัก ประมาณการณ์ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยออทิสติกประมาณ 370,000 คน ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง พบได้ทั้งคนจนและคนรวย เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้าน คือ ด้านสังคม ภาษา และ พฤติกรรม สังเกตพบได้ก่อนอายุ 3 ขวบ สัญญาณเตือน ได้แก่ ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว
          ผอ.รพ. กล่าวต่อว่า ออทิสติกเป็นโรคที่มีความหลากหลายทางอาการมาก เด็กบางคนดูก็รู้ว่าเป็น แต่บางคนดูไม่ค่อยชัด หลายครั้งก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่นอนในการพบครั้งแรก ต้องอาศัยการเฝ้าติดตามอาการและพฤติกรรมหลายๆ ครั้งเพื่อให้แน่ใจ และหาข้อมูลจากหลายที่ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กที่เด็กเข้าไปเรียน เส้นแบ่งระหว่างความเป็นโรคกับความผิดปกติเป็นเส้นบางๆ ต้องอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ ยิ่งเห็นมากจะยิ่งเข้าใจโรคมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายจัดบริการเข้าถึง เพิ่มการตรวจคัดกรองหาภาวะออทิสติกในคลินิกสุขภาพเด็กดี (Well child clinic) ซึ่งให้บริการฉีดวัคซีนและติดตามพัฒนาการเด็กหลังคลอดทุกคนจนถึงอายุ 5 ปี โดยให้ตรวจเมื่อเด็กอายุ 1 ขวบครึ่งขึ้นไป เนื่องจากหากตรวจพบตั้งแต่ช่วง 2 ขวบปีแรก จะทำให้ผลการรักษาดีมาก แม้ไม่หายขาดแต่เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้ เข้าโรงเรียนได้ตามวัย อีกทั้ง กรมสุขภาพจิตเองก็มีนโยบายในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของผู้พิการทางจิตใจ สติปัญญา การเรียนรู้ และ ออทิสติกอย่างเป็นองค์รวม พัฒนา แนวทางการดูแลทางสังคมจิตใจแก่ผู้พิการทางกายในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) สร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่เครือข่ายผู้ปกครอง ผู้ดูแลผู้พิการทางจิตใจฯ รวมทั้งชุมชนเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ขั้นพื้นฐานของผู้พิการทางจิตใจฯ เพื่อให้ผู้พิการทางจิตใจฯ ได้รับการฟื้นฟูด้านสังคม ผ่านเครือข่ายดูแลสุขภาพ ตลอดจนสามารถดูแลกันเองได้
          พญ.รัชนี ได้ย้ำว่า โรคนี้สามารถรักษาได้ ซึ่งการรักษาของแพทย์ และการเปิดใจยอมรับของครอบครัวที่ ไม่มองเด็กออทิสติกว่าเป็นส่วนเกินของครอบครัว และสังคม พร้อมจะทุ่มเท และสู้ไปด้วยกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้เด็กออทิสติกมีโอกาสในการรักษา และสร้างพื้นที่ในสังคมเพิ่มขึ้น การเข้าใจและให้โอกาสกับกลุ่มคนพิเศษเหล่านี้ ย่อมช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างมีความสุข ซึ่งพวกเราทุกคน ทั้ง พ่อแม่ ผู้ปกครอง แพทย์ และครู มีส่วนช่วยในการชูพลังใจ เติมความสดใส สร้างแสงสว่างเพื่อเพิ่มความหวังให้กับพวกเขาได้เพราะพวกเขาเหล่านี้ก็มีหัวใจที่ต้องการคนเข้าใจเช่นกัน และในปัจจุบัน มีการเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคออทิสติกอย่างแพร่หลาย เมื่อหลายคนเข้าใจและยอมรับ ก็ส่งผลให้พ่อแม่พาลูกมาตรวจเร็วขึ้น ผลการรักษาก็จะดีขึ้น อย่างรวดเร็ว หลายครอบครัว พบว่า ลูกมีพัฒนาการใกล้เคียงเด็กปกติมาก ซึ่งสมองของเด็กในช่วงอายุน้อยกว่า 5 ขวบจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ถ้ารีบแก้ไขปัญหาให้กับเด็ก จะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาได้อย่างดี เด็กออทิสติกหลายคนสามารถพัฒนาได้จากไม่พูดหรือพูดภาษาที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ จนสามารถสื่อสารได้ดี ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี ไม่มีพฤติกรรมซ้ำๆ เด็กออทิสติกหลายคนสามารถเรียนจบปริญญาและประกอบอาชีพได้เหมือนคนปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม ก็ยังพบว่า ยังมีครอบครัวที่ยังไม่ยอมรับ ไม่เชื่อว่าลูกมีปัญหา จึงไม่พามาฝึก บางครอบครัวรู้สึกเสียใจ ผิดหวังที่ลูกตัวเอง ไม่ปกติ คิดแต่ว่าทำไมลูกต้องเป็นแบบนี้ หมดกำลังใจที่จะพามาฝึกหรือกระตุ้นพัฒนาการ ทำให้เด็กกลุ่มนี้เสียโอกาสในการพัฒนาและมักพบว่าพวกเขาจะกลับมารักษาเมื่ออายุมากแล้ว ซึ่งจะยิ่งทำให้ยากมากขึ้นในการฝึกและกระตุ้นพัฒนาการ
          ผู้ปกครองสามารถสังเกตพบอาการออทิสติกได้ก่อนที่เด็กจะมีอายุ 3 ปี หรือเริ่มสังเกตอาการได้ชัดเจนเมื่ออายุประมาณ 1 ขึ้นไป อาการหลักๆ คือพัฒนาการช้าใน 3 ด้าน เช่น1.ด้านสังคม เด็กจะไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเราเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น ไม่ชี้นิ้วสั่งหรือบอกเมื่อต้องการของที่อยากได้ 2.ด้านภาษาเช่น เริ่มพูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิมๆ ซ้ำๆ ทั้งวัน และ 3.ด้านพฤติกรรม เช่น ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว มีพฤติกรรมซ้ำๆ ซึ่งหากเด็กมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน ผอ.รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าว


ข่าวองค์การสหประชาชาติ+รัชนี ฉลองเกื้อกูลวันนี้

"วีบียอนด์" คว้ารางวัล "Climate Action Leader Awards" จาก AFMA (UN FAO) ตอกย้ำความมุ่งมั่นสู่องค์กรสีเขียวอย่างยั่งยืน

ดร.วรเดช รุกขพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วี บียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นรับรางวัล "Climate Action Leader Awards" ในงาน Climate Action Forum ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบโดย AFMA (UN FAO) เพื่อยกย่ององค์กรเอกชนชั้นนำที่มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความยั่งยืนเพื่อฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนลำดับที่ 13 (SDG 13) ซึ่งจัดขึ้น ณ องค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก นายนราพัฒน์ แก้วทอง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์วันน้ำโล... รณรงค์ 'วันน้ำโลก' กรมอนามัย ชวนประชาชน ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า หลีกเลี่ยงการเปิดน้ำทิ้ง — กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์วันน้ำโลก 22 มีนาคม 2568 ภายใต้แน...