นายวิเชียร เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการส่งแรงงานประมงไทยกลับจากเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขั้นตอนการรับแรงงานประมงไทยเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับเอกสารและวิธีการผ่านคนเข้าเมือง ต่อจากนั้นแรงงานประมงไทยจะเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งได้จัดไว้ ๗ ฐาน คือ
๑) สนับสนุนสิ่งของเบื้องต้น ได้แก่ กระเป๋าบรรจุสิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้า อาหารและเครื่องดื่มฯลฯ
๒) ตรวจสุขภาพเบื้องต้น โดยทีมแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ
๓) แจ้งสิทธิและเงินช่วยเหลือ จากแต่ละหน่วยงานที่พึงได้รับ เช่น ค่าเดินทางกลับภูมิลำเนา ค่าจ้างค่าแรง เงินสงเคราะห์
๔) สัมภาษณ์ข้อมูลแรงงานประมงไทยในเบื้องต้น
๕) จุดพักรอเพื่อเดินทาง
๖) จุดพบญาติและสื่อมวลชน
๗) จุดขึ้นรถไปสถานที่พักพิงชั่วคราวที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดเตรียมไว้รองรับ และจะมีทีมสหวิชาชีพร่วมกันคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในวันรุ่งขึ้น
“กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ประสบปัญหาทุกคน และจะติดตามช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันมิให้แรงงานประมงไทยเหล่านี้ถูกหลอกลวงและเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในอนาคต” นายวิเชียร กล่าวท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit