ทีมวิจัยศิริราชคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ จากผลงานการพัฒนาชุดการตรวจพิสูจน์บุคคลด้วยดีเด็นเอแบบ SNP set

06 Mar 2015
ในงานวันนักประดิษฐ์ ๒๕๕๘ ณ อิมแพค เมืองทองธานี จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงพัชรีย์ เลิศฤทธิ์ อาจารย์ประจำ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ คว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี ๒๕๕๗ จากผลงาน “การพัฒนาชุดการตรวจพิสูจน์บุคคลด้วยดีเด็นเอแบบ SNP set เพื่อใช้ในตัวอย่างตรวจที่เสื่อมสลายโดยมีความจำเพาะต่อการตรวจพิสูจน์บุคคลประชากรไทย”
ทีมวิจัยศิริราชคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ จากผลงานการพัฒนาชุดการตรวจพิสูจน์บุคคลด้วยดีเด็นเอแบบ SNP set

เทคโนโลยีในการตรวจดีเอ็นเอทางนิติพันธุศาสตร์นั้น มีประโยชน์ในการตรวจเพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิสูจน์บุคคลของผู้ที่เสียชีวิตแล้ว ในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และสภาพของศพก็มีการเสื่อมสลายตัวอย่างกรณีเกิดกรณีภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุหมู่ เช่น Tsunami, เครื่องบินตก เรือโดยสารล่ม เป็นต้น ซึ่งในการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลทางนิติเวชในปัจจุบัน ใช้ชุดตรวจสำเร็จรูป ซึ่งจะทำการตรวจจำนวนที่ซ้ำกันของ Short Tandem Repeat (STR) หรือ microsatellite ในนิวเคลียร์ดีเอ็นเอ จำนวนทั้งหมด ๑๖ ตำแหน่ง โดยชุดตรวจสำเร็จรูปที่สามารถตรวจทั้ง ๑๖ ตำแหน่งในครั้งเดียว แต่จะให้ผลครบทั้ง ๑๖ ตำแหน่งได้ก็ต่อเมื่อดีเอ็นเอจากตัวอย่างตรวจมีคุณภาพดี แต่ในกรณีที่ดีเอ็นเอจากตัวอย่างตรวจมีการเสื่อมสภาพ ชุดตรวจ STR สำเร็จรูปจะให้ผลไม่ครบทั้ง ๑๖ ตำแหน่ง เป็นผลให้ความแม่นยำในการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลลดลง

คณะผู้วิจัยได้พัฒนาวิธีการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลโดยวิธีการตรวจดีเอ็นเอสำหรับศพที่เสื่อมสภาพ เน่าเปื่อย ให้ได้ผลที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น โดยการตรวจดู Single Nucleotide Polymorphism หรือ SNP ซึ่งสามารถใช้ได้ดีกับสิ่งส่งตรวจที่มีการเสื่อมสภาพของดีเอ็นเอ หรืออย่างน้อยสามารถใช้ SNP สนับสนุน STR ได้ในกรณีการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลทางนิติเวชที่มีการเสื่อมสภาพของดีเอ็นเอ

การศึกษาเริ่มต้นโดยการค้นหาลำดับเบสในจีโนมของคนไทยในฐานข้อมูลที่มีอยู่ เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของคนชาติอื่นในยุโรป อเมริกา จีนและญี่ปุ่น เพื่อค้นหา nucleotide variants (SNP) ที่เหมาะสมในการแยกแยะบุคคลในประชากรไทย แล้วจึงได้ตรวจสอบการกระจายตัวของ variants เหล่านั้น ซึ่งมีการกระจายตัวอยู่บนทุกโครโมโซม จากนั้นทำการพัฒนาวิธีการตรวจ nucleotide variants (SNP genotyping) เหล่านั้นให้สะดวกต่อการนำไปใช้งานจริงในห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน

ขั้นตอนการพัฒนาวิธีการตรวจนี้ได้ทำที่ประเทศญี่ปุ่นภายใต้ความร่วมมือกับ Professor Dr. Michiaki Kubo, Director of RIKEN โดยใช้วิธีการตรวจที่ชื่อว่า Invader assay เมื่อได้พัฒนาวิธีการตรวจแล้ว ได้นำวิธีการที่พัฒนาได้นั้นมาทดสอบในตัวอย่างตรวจที่ได้มาจากศพที่เสื่อมสภาพแล้วและไม่สามารถตรวจสอบด้วยวิธีมาตรฐาน (STR genotyping) ได้ผลครบถ้วน ผลการทดสอบการตรวจตัวอย่างที่มาจากศพที่เสื่อมสภาพด้วยวิธีที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถที่จะให้ผลแยกแยะบุคคลได้ร้อยละ ๔๔ จากเดิมที่ไม่สามารถตรวจสอบด้วยวิธีมาตรฐาน (STR genotyping) ได้

การตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลโดยระบบการตรวจดีเอ็นเอโดยใช้ SNP ที่พัฒนาได้นี้ มีความสามารถในการแยกแยะบุคคลในประชากรไทยสูงกว่าวิธีมาตรฐานที่ใช้อยู่ปัจจุบัน และสามารถใช้ได้เป็นอย่างดีกับการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลในกรณีสิ่งส่งตรวจที่มีการเสื่อมสภาพของดีเอ็นเอที่การใช้ STR ไม่สามารถตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้ และสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องซื้อเครื่องมือใดๆ เพิ่มเติม และคณะผู้วิจัยมีแผนที่จะทำการพัฒนาวิธีการตรวจนี้เป็นชุดการตรวจสำเร็จรูปต่อไป

HTML::image( HTML::image(