กระทรวงเกษตรฯ เห็นชอบโครงการสร้างความมั่นคงทางอาหารหยาบให้กับโคนมด้วยหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ หวังลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารหยาบ พร้อมสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้และศึกษาวิจัยผลิตอาหารหยาบให้โคนม

26 Mar 2015
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการโครงการสร้างความมั่นคงทางอาหารหยาบให้กับโคนมด้วยหญ้า เนเปียร์ปากช่อง 1 ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยจัดสรรเงินจากกองทุนฯ จำนวน 4,152,500 บาท เพื่อดำเนินการสร้างความมั่นคงและลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารหยาบของโคนมทดแทนภายในโครงการนำร่องการเลี้ยงโคนม ทดแทนในระบบชีวภาพ (วัวหลุม) ของชุมนุมฯ และลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารหยาบของโคนมให้สมาชิกสหกรณ์ในเครือข่าย รวมทั้งเกษตรกรผู้ลี้ยงโคนมในพื้นที่ทั่วไป อีกทั้งพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานและการศึกษาวิจัยในการพัฒนาองค์ความรู้การปลูกหญ้าสายพันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1 สำหรับใช้เป็นแหล่งอาหารหยาบของโคนมในอนาคต โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี

สำหรับกิจกรรมการดำเนินงานของโครงการฯ ประกอบด้วย 1.กิจกรรมการจัดการแปลงหญ้า ทั้งการจัดเตรียมพื้นที่ปลูก การใส่ปุ๋ยบำรุงหญ้า การเก็บเกี่ยว และการดูแลแปลงหญ้าหลังการเก็บเกี่ยว 2.กิจกรรมการจัดการนำหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ไปใช้ประโยชน์ เช่น การนำไปใช้เลี้ยงโคนมทดแทนภายในโครงการวัวหลุม การนำไปผลิตเป็นหญ้าหมัก การผลิตอาหารTMR (Total mixed ration) หรืออาหารผสมครบส่วน ซึ่งเป็นการผสมระหว่างอาหารหยาบ อาหารข้น แร่ธาตุ วิตามิน ในสัดส่วนที่มีสารอาหารครบตามความต้องการของโคนม และ 3.กิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประกอบด้วย การอบรมการศึกษาดูงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงโคนมทดแทนในระบบชีวภาพ”วัวหลุม” ของชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และภาคตะวันตก จำกัด เป็นสถานที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการฟาร์มด้วยเครื่องฉายดิจิตอล การดูวิธีการจัดการแปลงหญ้า และการนำผลผลิตไปเป็นอาหารสำหรับโค เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติการปรับแผนการดำเนินงาน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าของชุมนุมสหกรณ์การปศุสัตว์ภาคตะวันออก จำกัด ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยให้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรกิจกรรมการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสุกรฯ จากหลักสูตรการพัฒนาการผลิตสุกรให้มีคุณภาพ งบประมาณ 827,400 บาท เป็นหลักสูตรอาหารสัตว์ กลุ่มเป้าหมายคือ เจ้าหน้าที่และกรรมการของสหกรณ์ฯ งบประมาณ 399,000 บาท และหลักสูตรเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร กลุ่มเป้าหมายคือ สมาชิกสหกรณ์ งบประมาณ 420,000 บาท ซึ่งจะทำให้กองทุนฯประหยัดงบประมาณในส่วนการฝึกอบรมตามโครงการนี้ได้ 8,400 บาท จากเดิมกำหนดกรอบงบประมาณ 827,400 บาท ลดลงเหลือ 819,000 บาท พร้อมกันนี้ ได้ขยายระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสุกรฯ ของระยะที่ 3 จากเดิมกำหนดให้ฝึกอบรมภายใน 1 ปี (ธ.ค.2556-ธ.ค. 2557) ออกไปอีก 6 เดือน โดยสิ้นสุดระยะเวลาการฝึกอบรมเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งการเปลี่ยนหลักสูตรฝึกอบรม และการขยายระยะเวลาโครงการฯดังกล่าว จะช่วยให้การดำเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ และเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์จะได้รับประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงสุกรอีกด้วย