24 มี.ค. “วันวัณโรคสากล” สคร. 12 สงขลา ชวนร่วมค้นหาผู้ป่วยรายใหม่

26 Mar 2015
วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันวัณโรคสากล ซึ่งในปี 2558 นี้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “เข้าถึงทุกราย รักษาหายทุกคน” (Reach, Treat, Cure Everyone) โดยมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงชาวต่างชาติ ทุกชาติ ทุกคน ทั้งมีสิทธิการรักษาหรือไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ มีสิทธิ์ที่จะได้รับการตรวจรักษาวัณโรคทุกคนและผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคต้องได้รับการสนับสนุนให้กินยาและรักษาต่อเนื่องจนหายหายขาดโดยไม่มีข้อยกเว้น

ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลากล่าวว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา พื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ พัทลุง ตรัง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส การค้นพบผู้ป่วยรายใหม่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนคนไทยทุกคนร่วมกันค้นหาผู้ป่วยวัณโรคที่ยังเหลืออยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอช ไอ วี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ที่อาศัยร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยดังกล่าวได้เข้ารับการรักษาให้หายขาด และขอให้ประชาชนร่วมกันตระหนัก ตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันวัณโรค มีการสร้างความร่วมมือร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาวัณโรคที่ได้ผล นำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดคือเมืองไทยปลอดวัณโรค

วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ทำให้มีการอักเสบในปอด ส่วนมากในผู้ใหญ่มักพบเป็นที่ปอด ในเด็กอาจเป็นที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง กระดูก เด็กมักจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ทำให้เชื้อกระจายในอากาศ ในห้องที่ทึบอับแสง เชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดดส่อง เชื้ออาจอยู่ได้ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือน เชื้อจะกระจายอยู่ในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาเชื้อเข้าไป บางครั้งเชื้ออาจผ่านจากแม่ไปยังลูกในครรภ์โดยผ่านทางรกได้ ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดมีอาการของโรคได้แก่ การติดเชื้อในวัยทารก และในวัยหนุ่มสาว การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยเฉพาะการติดเชื้อ เอช ไอ วี ผู้ติดยาเสพติด และโรคขาดอาหาร หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัณโรคสามารถสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค

ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถานการณ์วัณโรคในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ย้อนหลังตั้งแต่ปี ๒๕๔๘-๒๕๕๗ พบว่ามีการขึ้นทะเบียนรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละ 3,500-4,000 ราย การค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในปี 2557 ที่ผ่านมา พบจังหวัดที่มีอัตราการค้นหาผู้ป่วยสูงที่สุดได้แก่จังหวัดยะลาร้อยละ 66.9 รองลงมาได้แก่สงขลา ร้อยละ 59.3 นราธิวาส ร้อยละ 57.7 ปัตตานี ร้อยละ 57.6 สตูลและพัทลุงร้อยละ 55.2 และจังหวัดที่มีอัตราค้นหาผู้ป่วยต่ำสุดได้แก่จังหวัดตรังร้อยละ 51.1 ปัญหาที่พบคือยังมีอัตราตายสูงร้อยละ 8.1-9.2 ผู้ป่วยขาดการรักษาร้อยละ 2.8-6.0 ซึ่งจังหวัดที่อัตราขาดยาสูงสุดได้แก่จังหวัดพัทลุง