นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรจำนวนไม่น้อยมีปัญหาในการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ขาดการพัฒนาระบบการผลิต ปัญหาเชิงโครงสร้างการตลาด ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ภาคเกษตรยังคงเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับภาคเกษตรไว้ 3 ประการ คือ 1.) ดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม 2.) ลดอุปสรรคในการส่งออก และหาตลาดที่มีศักยภาพ และ 3.) เร่งปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการ เช่น การแบ่งเขตปลูกพืชแต่ละชนิด เป็นต้น
“การร่วมมือของ สปก. กับ กรุงเทพโปรดิ๊วส ในโครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน จะเป็นการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และที่สำคัญเป็นการดูแลห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตร สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรฯ” นายปีติพงษ์กล่าว
ด้าน นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ส.ป.ก.จะสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 4402-2553 (Thai Agricultural Standard – TAS 4402-2010, Good Agricultural Practices for Maize) และจะติดตามเกษตรกรที่ผ่านการอบรมเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวด้วย
นายสมชาย กังสมุทร กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส กล่าวว่าโครงการนี้จะจัดอบรมให้ความรู้ในส่วนของการเพาะปลูกอย่างถูกต้อง ตั้งแต่การวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน จนถึงการจัดการหลังเก็บเกี่ยว ที่ห้ามทำการเผาตอซังโดยเด็ดขาด การเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูก และผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยสู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายหลักของโครงการนี้ ต้องการให้เกษตรกรมีความรู้ในการเพาะปลูกข้าวโพดอย่างถูกต้อง รู้จักการวิเคราะห์ดินด้วยตัวเอง และการใส่ปุ๋ยให้เหมาะกับดิน ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยลดลง รายได้เกษตรกรสูงขึ้นจากคุณภาพผลผลิตที่ดีขึ้น ไม่ถูกกดราคา ลดปัญหาสุขภาพของเกษตรกรที่เกิดจากสารเคมีเพื่อการเกษตร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเพาะปลูก เช่น การเผาตอซังและการบุกรุกป่าและเผาป่าในพื้นที่หวงห้าม ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับร่วมกับบริษัทฯ
โครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” กำหนดพื้นที่นำร่องในปี 2558 ไว้ 8 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เลย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา ซึ่งวางแผนพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในพื้นที่ สปก. ให้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 45,000 ไร่ และตั้งเป้า 5 ปี (2558-2562) จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 20,000ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 225,000 ไร่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแนวทางการขยายผลโครงการ โดยอาศัยความร่วมมือกับทั้งคู่ค้าธุรกิจและเกษตรกรเครือข่าย ภายใต้นโยบายการจัดซื้อวัตถุดิบอย่างยั่งยืนอีกด้วย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit