นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ๘,๙๗๐,๗๔๐ คน หรือคิดเป็นร้อยละ ๑๓.๘๕ ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. ๒๕๗๐ จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง ๑๖,๐๐๐,๐๐๐ คน หรือคิดเป็นร้อยละ ๒๕ ซึ่งประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มขั้น ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐได้มีการเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับผลกระทบจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยได้กำหนดให้ “การเตรียมความพร้อมสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุ” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ รวมทั้งรัฐบาลยังได้ประกาศนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยให้ความสำคัญกับกลยุทธการสร้างงานอาชีพให้กับคนทุกกลุ่ม โดยจะทำก่อน ทำจริง ทำทันที และหวังผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน
นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ได้ตระหนักถึงคุณค่าภูมิปัญญาของผู้สูงอายุว่าเป็นผู้ที่มากด้วย ภูมิความรู้ ภูมิธรรม และภูมิปัญญาสามารถมีส่วนร่วม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาชีพเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้กับประชาชนได้ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมของผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) จึงบูรณาการความร่วมมือกับชมรมคลังปัญญาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร จัดงาน “ตลาดนัดภูมิปัญญาสร้างอาชีพครั้งที่ ๕ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘” ขึ้นมา เพื่อรับสนองแนวคิดการปฏิบัติหน้าที่พลเมืองในการอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาผู้สูงอายุ ภูมิปัญญาไทยไว้กับสังคมเจริญรอยตามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจัดงานระหว่างวันที่ ๒ - ๔ ธันวาคม ๒๕๕๗
นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงานครั้งนี้ ได้เชิญภูมิปัญญาผู้สูงอายุมาถ่ายทอดความรู้ ๖๐ร้าน ๘๒ วิชาชีพ มาให้ประชาชนเรียนรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อาทิ การทำอาหาร ขนมโบราณการร้อยมาลัย พานพุ่ม งานประดับมุก ของใช้เครื่องตกแต่งบ้าน งานศิลปะประดิษฐ์ร่วมสมัย เป็นต้น นอกจากนี้บนเวทียังมีการแสดงของผู้สูงอายุ และการประกวดจัดสวนถาด ประกวดการทำเต้าเจี้ยวหลนประกวดการทำส้มตำ “รสซ่าลีลาแซ่บ” และประกวดขับร้องเพลงชิงรางวัลตลอดทั้ง ๓ วัน
“ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าว มีลักษณะเป็นตลาดนัดความรู้ด้านวิชาชีพ ที่เปิดพื้นที่แห่งโอกาสให้สาธารณชนได้เข้าถึงภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ ภูมิปัญญาไทย ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งชมรมคลังปัญญาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ที่ดำรงบทบาทสำคัญในการเป็นหุ้นส่วนภาคีพัฒนาร่วมกับภาครัฐได้อย่างมีพลัง ทำให้ประชาชนสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ในครั้งนี้ ไปต่อยอดขยายผลเชิงเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นต่อไป” นายวิเชียร กล่าวตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit