กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โชว์ศักยภาพประเทศไทยบนเวทีโลก ประกาศตัวเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมงาน Expo Milano 2015, Italy ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี 1 ใน 3 งานใหญ่ระดับโลก CHANGE มิติใหม่อาคารแสดงประเทศไทย นำเสนอ “การเลี้ยงดูโลกอย่างยั่งยืน” (Nourishing and Delighting the World) การันตี “ไทยแลนด์แบรนด์” (Thailand Brand) เข้าสู่ตลาดโลก พร้อมผลิตอาหารคุณภาพเพื่อเลี้ยงดูชาวโลก
ยังไม่ทันเริ่มงาน รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารแสดงประเทศไทย ในงาน Expo Milano 2015, Italy ก็ได้รับความสนใจจากสื่อยักษ์ใหญ่ในอิตาลี เนื่องจากมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยรูปทรงที่โดดเด่นสะดุดตา จนหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอิตาลี นำภาพของอาคารแสดงประเทศไทยไปตีพิมพ์ นับว่าเป็นก้าวแรกที่สวยงามที่แสดงให้เห็น การยอมรับในฝีมือสถาปนิกไทยที่ไม่น้อยหน้าใครในโลก
โดย นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นาย ชลิต ดำรงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมิตร โอบายะวาทย์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายปัญญา นิรันดร์กุล นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ 2 ตัวแทนจาก กิจการร่วมค้า เวิร์คไร้ท์ และ มิสเตอร์ ฟรานเชสโค ซาเวริโอ นิสิโอ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย พร้อมกันบนเวทีเพื่อร่วมสนทนา การเข้าร่วมงาน Expo Milano 2015, Italy หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่างาน World Exposition Milano 2015, Italy โดย นายยุคล ลิ้มแหลมทอง กล่าวว่า “งาน Expo Milano 2015 หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่างาน World Exposition Milano 2015 ถือเป็นงานมหกรรมนิทรรศการระดับโลก (World Expo) ที่สาธารณรัฐอิตาลีได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ วัตถุประสงค์ของการจัดงานก็เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรม และศักยภาพในด้านต่างๆ ของแต่ละประเทศ โดยงานมหกรรม ระดับโลก Expo Milano 2015 ได้มีกำหนดให้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 ตุลาคม 2558 ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี และได้มีการกำหนดแนวคิดหลัก (Main Theme) ของการจัดงานว่า “อาหารหล่อเลี้ยงโลก พลังงานหล่อเลี้ยงชีวิต” (Feeding the Planet, Energy for Life) โดยคัดเลือกหัวข้อหลักการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ คือ “การเลี้ยงดูโลกอย่างยั่งยืน” (Nourishing and Delighting the World) ด้วยการจัดการกับปัญหาความขาดแคลนอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมุ่งเป้าที่เป็น “ครัวของโลก” และ “สร้างความสุขให้แก่ชาวโลก” ด้วยการพัฒนาทางด้านผลผลิตทางการเกษตรกระบวนการผลิตอาหาร ที่มีคุณภาพสูงในทุกขั้นตอน รวมทั้งการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและเอกลักษณ์ไทย เพื่อสรรค์สร้างผลผลิตทางอาหารเลี้ยงดูผู้คนทั่วโลกซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่เรื่อง “ไทยแลนด์แบรนด์” (Thailand Brand) กับศักยภาพในการผลิตอาหารได้มาตรฐานระดับโลก ทั้งรสชาติ ทั้งบรรจุภัณฑ์หีบห่อที่น่าสนใจ” นายยุคลกล่าว
ทางด้านความพร้อมในการเข้าร่วมงาน นายชลิต ดำรงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงแกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวว่า “ประเทศไทยยังมีการคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การแปรรูป การเก็บรักษา และการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ตลอดจนรสชาติของอาหารให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ รวมถึงเรื่องการบรรจุหีบห่ออาหารที่ดูดึงดูดและน่ารับประทาน และในปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมีนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” เพื่อพัฒนาการผลิตและขยาย การส่งออกสินค้าอาหารไทย โดยประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างประเทศได้เห็นความหลากหลาย รับรู้รสชาติของอาหารไทย และ มีความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของการจัดอาคารแสดงประเทศไทยในครั้งนี้ ที่เราต้องการ เป็นผู้นำด้าน “การเลี้ยงดูโลกอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของการจัดนิทรรศการของประเทศไทย (Theme) คือ Nourishing and Delighting the World เพื่อให้เข้ากับหัวข้อหลักในงานจัดงานครั้งนี้คือ“Feeding the Planet,Energy for Life : อาหารหล่อเลี้ยงโลก พลังงานหล่อเลี้ยงชีวิต”
แนวความคิดในงานออกแบบอาคารแสดงประเทศไทย เพื่อนำเสนอมิติใหม่ของอาคารแสดงประเทศไทย นายสมิตร โอบายะวาทย์ สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารแสดงประเทศไทย กล่าวว่า “งานสถาปัตยกรรมจะเป็นสิ่งแรกที่จะสื่อสารกับผู้ชม ดังนั้น ในการออกแบบอาคารแสดงประเทศไทยครั้งนี้ งานสถาปัตยกรรมจะต้องสื่อถึงสิ่งสำคัญ คือ สะท้อนความคิดหลักของงาน และให้มี “ความเป็นไทย” โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยสะท้อนแนวความคิดหลักสาระสำคัญ ในการจัดแสดงภายใต้แนวคิด“Nourishing and Delighting the world” นั่นก็คือTheme หลักเกี่ยวข้องกับอาหาร ซึ่งสิ่งที่เป็นองค์ประกอบ คือ เกษตรกรรม นั่นคือ การปลูกข้าว น้ำ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการทำการเกษตร และ ผู้ผลิตอาหาร อันได้แก่ ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ จึงทำให้เกิดแนวคิดในการออกแบบอาคารแสดงประเทศไทย เพื่อออกแบบอาคารเป็นสถาปัตยกรรม ในเชิงสัญลักษณ์ ประกอบด้วย
1. แรงบันดาลใจจาก “งอบ” สัญลักษณ์แห่งวิถีการเกษตร อัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย “งอบ” เป็นสัญลักษณ์แทนผู้ผลิตอาหาร เป็นนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำกับชาติใดในโลก