บทสรุปการวิเคราะห์มุมมองเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2557

28 Jul 2014
อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ขยายตัว 1.6% โดยเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศชดเชยการส่งออกที่มีแนวโน้มการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม ปัจจัยบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจได้แก่ 1) สถานการณ์การเมืองที่มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นภายหลังคณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งเสถียรภาพการเมืองนี้ส่งผลอย่างชัดเจนต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชน 2) การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนภาครัฐ รวมไปถึงการให้ความสำคัญต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ และ 3) การช่วยเหลือเกษตรกรผ่านการจ่ายคืนค่าจำนำข้าวให้แก่เกษตรกรและแนวคิดการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ผ่านการให้สินเชื่อต่างๆ อย่างไรก็ตามปัจจัยลบต่ออุปสงค์ภายในประเทศยังคงมีอยู่เช่นกันทั้งจากแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการบริโภคภาคเอกชนเนื่องจากแรงกดดันด้านรายได้ และภาระหนี้ครัวเรือน รวมไปถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในด้านความโปร่งใส แต่อาจส่งผลให้การลงทุนภาครัฐในบางส่วนมีความล่าช้า

อีไอซีคาดการส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวในระดับ 1% ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์เดิมค่อนข้างมาก เป็นผลจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) การลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตร 2) การชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งกระทบชัดเจนต่อสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ 3) การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออกรถยนต์ โดยมีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนรถอีโคคาร์ที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่ารถประเภทอื่นๆ และ 4) การสูญเสียความนิยมของสินค้าอิเลกทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสินค้าเทคโนโลยีล้าสมัยมีสัดส่วนอย่างน้อย 7% ของการส่งออกไทยทั้งหมด ทั้งนี้ อีไอซีประเมินการส่งออกของไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 และจะขยายตัวได้ในระดับ 1%

อีไอซีประเมินค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเป็น 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงแม้ว่าค่าเงินบาทจะมีการแข็งค่าขึ้นในระยะที่ผ่านมาจากเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศที่ดีขึ้น แต่อีไอซีประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจาก 1) ภาวะเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯที่เร็วกว่าการคาดการณ์เดิม 2) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่มีแนวโน้มคงอยู่ที่ 2% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และเป็นระดับต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคพอสมควร และ 3) การส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้เพียงเล็กน้อย และไม่ช่วยดุลการค้ามากนัก โดย : นางสาว สุทธาภา อมรวิวัฒน์Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit