นายวิทัต วัชโรบล ผู้อำนวยการศูนย์บริการข้อมูลประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AIC) กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการพัฒนาความรู้ความสามารถของภาครัฐและเอกชนในการเข้าสู่ AEC ซึ่งจุดเริ่มต้นของโครงการ “DTN Business Plan Award 2014” ก็เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพของนิสิต นักศึกษาของไทย เนื่องจากในปี 2558 กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นแรงงานที่สำคัญต่อการเปิดตลาดการค้าเสรี ขณะเดียวกันยังถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ส่วนแผนธุรกิจที่เกิดจากการแข่งขันยังสามารถนำมาปรับปรุงเพื่อเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจ สำหรับสร้างความพร้อมให้กับ SMEs ไทย ในการเข้าสู่ตลาด AEC อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังสามารถรุกเข้าไปลงทุนในตลาดอาเซียนทั้ง 9 ประเทศ รวมถึงใช้เป็นแผนการปรับตัวของผู้ประกอบการภายในประเทศ
โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันจะเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งแต่ละทีมประกอบไปด้วยสมาชิกทีมละไม่เกิน 5 คน ขณะที่หลักเกณฑ์การจัดทำแผนธุรกิจเข้าแข่งขันจะต้องจัดทำเป็นรายสาขาวิสาหกิจชุมชน/อุตสาหกรรม/ธุรกิจ (Sector) หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน/อุตสาหกรรม/ธุรกิจ (Cluster) ของประเทศไทย สำหรับเกณฑ์การให้คะแนนจะพิจารณาการ 1) โอกาสที่จะนำแผนธุรกิจไปดำเนินได้จริงและเกิดห่วงโซ่แห่งคุณค่า 2) โอกาสและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 3) โอกาสและผลตอบแทนทางสังคม 4) ปัจจัยความเสี่ยงและแนวทางแก้ปัญหา และ 5) เทคนิคการนำเสนอแผนธุรกิจ
นายฉัตรชัย เลื่อมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความพร้อมทางการค้า กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการเปิดรับสมัครทีมเข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากอาจารย์ นิสิต และนักศึกษาเป็นอย่างมาก โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 60 ทีมจากทั่วประเทศ ทั้งนี้ได้มีการจัดการคัดเลือกในส่วนภูมิภาครวม 4 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.ขอนแก่น ภาคกลางรวมภาคตะวันออกกับตะวันตกที่ กรุงเทพมหานคร และภาคใต้ที่ จ.สงขลา จนกระทั่งได้ 10 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบตัดสินเพื่อชิงเงินรางวัลรวม 2 แสนบาท ทั้งนี้มีการนำเสนอแผนธุรกิจในวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ณ ห้องบอลรูม C ชั้น 6 โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท
โดย 10 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบตัดสิน ประกอบไปด้วย 1) ทีมกล้วยไข่หวาน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ในแผนธุรกิจ “ข้าวกล้องพองได้ เพิ่มได้” 2) ทีมสยามซอย 3 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในแผนธุรกิจ “GoatPuls+” 3) ทีม Apollo 91 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในแผนธุรกิจ “Inter Slik” 4) ทีม Enterprise จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในแผนธุรกิจ “คลัสเตอร์ไก่เนื้อโคราช” 5) ทีม HoneyHub จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแผนธุรกิจ “HoneyHub” 6) ทีม Make Scent จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในแผนธุรกิจ “สปาไทยในตลาดอาเซียนสำหรับธุรกิจขนาดย่อม” 7) ทีม On the way จากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในแผนธุรกิจ “Medical Map” 8) ทีม TU Brainstorm จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในแผนธุรกิจ “Asian Smart Gen” 9) ทีม TU-CU Planner จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแผนธุรกิจ “Branny Butter” และ 10) ทีม You’ll never walk alone จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในแผนธุรกิจ “มิติใหม่อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรไทยเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit