นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เล็กมาก สามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบและเป็นปัญหามากที่สุดคือ วัณโรคปอด มักพบในคนแก่ คนที่ร่างกายอ่อนแอจากการเป็นโรคอื่นๆ มาก่อน เช่น หวัด หัด ไอกรน และโรคเอดส์ คนขาดสารอาหาร ดื่มเหล้าหรือผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ติดต่อกันได้โดยเมื่อผู้ป่วยไอ จาม ออกมา เชื้อวัณโรคจะกระจายอยู่ในอากาศได้นาน 7-10 วัน เมื่อคนทั่วไปสูดเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ ไอ จาม หรือ หายใจรด ก็จะได้รับเชื้อโรคนี้ โดยมีอาการไข้ต่ำๆ เรื้อรัง มักมีเหงื่อออกในตอนกลางคืนถึงแม้อากาศเย็น มีอาการไอเกิน 2 สัปดาห์ ช่วงแรกจะไอแห้งๆต่อมาจะมีเสมหะออกมา บางครั้งมีเลือดปนเสมหะออกมาด้วย
นายแพทย์ศรายุธ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ เป็นวันวัณโรคสากล โดยปีนี้มีประเด็นรณรงค์ว่า “วัณโรค ค้นให้พบ จบด้วยหาย” ดังนั้นในวันที่ 24 มีนาคม 2557 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี ได้ร่วมกับ เรือนจำกลางอุบลราชธานี ตรวจคัดกรองวัณโรคให้กับผู้ต้องขังทั้งหมดจำนวน 4939 คน เพื่อให้กลุ่มผู้ต้องขังซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้เท่ากับประชาชนทั่วไป ได้รับการดูแลสุขภาพเทียบเท่ากัน การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในเรือนจำโดยเฉพาะวัณโรคจึงมีความสำคัญ เนื่องจากผู้ต้องขังมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้มาก โดยเฉพาะประวัติเสี่ยงก่อนถูกคุมขัง เช่นการเสพยาเสพติด ดื่มสุรา ฐานะยากจน และติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) รวมทั้งสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำที่อยู่รวมกันอย่างใกล้ชิดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก จากข้อมูลการตรวจรักษาวัณโรคในเรือนจำ พบว่า มีแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ เพราะวัณโรคเป็นเชื้อฉวยโอกาส หากร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิต้านทานบกพร่อง ติดเชื้อเอดส์ จะมีโอกาสติดเชื้อวัณโรคได้มากกว่าคนปกติถึง 30 เท่า
“ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการตนเอง ว่าเจ็บป่วยด้วยวัณโรคหรือไม่ โดยอาการจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด บางคนยังทำงานได้ปกติ จึงทำให้เชื้อโรคแพร่ไปสู่คนอื่นได้ หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพราะวัณโรคหากพบเร็ว โอกาสรักษาหายสูงและไม่แพร่กระจายเชื้อ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักวัณโรค โทร 0-2212-2279 กด 4 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์ศรายุธ กล่าวเพิ่มเติม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit