คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ ๖ จัดเวทีเสวนาพิเศษ "Different Roads to Well-being Society” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของกระบวนการสมัชชาสุขภาพในประเทศต่างๆ โดยมี ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานคจ.สช. เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษา คจ.สช. เข้าร่วม ณ ห้องหลานหลวง โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้
ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานคจ.สช. กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่าสมัชชาสุขภาพ ในปัจจุบัน มี ๓ ประเทศที่ดำเนินการอยู่ ได้แก่ บราซิล ยูกันดา และไทย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วง ๖ ปีที่ผ่านมา หลังมีการออกพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ โดยมีการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปแล้วถึง ๕ ครั้ง และสามารถพัฒนาเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งเครือข่ายจากพื้นที่และจังหวัด ธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาควิชาการ/วิชาชีพ สื่อมวลชน และหน่วยงานรัฐ มาร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาสุขภาวะอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ประเทศไทยมีกฎหมายคือพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติรองรับ และมีการออกหลักเกณฑ์และแนวทางในการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างชัดเจน และสามารถผลักดันให้เกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไปแล้วมากกว่า 40 มติ
“ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศบราซิลและยูกันดา ได้เล่าถึงประสบการณ์การดำเนินต่างๆ ของประเทศตน ตั้งแต่การริเริ่มสมัชชาสุขภาพขึ้น ซึ่งใช้เวลานานกว่าประเทศไทยนับ 10 ปี แต่กลับยังมีข้อจำกัดในเรื่องของภาคีเครือข่ายและความเป็นเจ้าของที่ยังถูกมองว่าจำกัดอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขอยู่ ดังนั้น ถ้าเทียบกับระยะเวลาของประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มมาเพียง 6 ปี แล้วถือว่าเราประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในเรื่องของการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะ” ดร.ศิรินากล่าว
รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติของไทย เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๕๑ โดยเป็นเวทีที่เอื้อต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนแนวทางหรือนโยบายสุขภาวะจากระดับชุมชนท้องถิ่น ไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ เริ่มจากกระบวนการนำเสนอประเด็นและคัดเลือก เพื่อบรรจุเป็นระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยพิจารณาจากระดับความรุนแรงของผลกระทบ ความสนใจของสาธารณชน และแนวโน้มของการสามารถพัฒนาไปสู่นโยบายที่ปฏิบัติได้จริงเป็นต้น จากนั้นจะให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันพิจารณาหาฉันทามติเพื่อผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมตินั้นๆไปปฏิบัติ
“ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ถึงปัจจุบัน มีมติแล้วกว่า ๔๐ มติโดยมีสมาชิกมาร่วมขับเคลื่อนถึงกว่า ๒๓๐ กลุ่มองค์กร เครือข่าย ซึ่งครอบคลุม ภาคส่วนหลัก ได้แก่ ภาควิชาการ/วิชาชีพ , ภาคประชาชน , ภาครัฐ และภาคเอกชน โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง คือการจัดทำกระบวนการให้มีความยืดหยุ่น สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้มากขึ้นอีก และผลักดันให้ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง”
ดร.โซรายา มาเรีย วาร์กาส คอร์เตส President of the Brazilian Sociological Association กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติของบราซิล เริ่มมีขึ้นในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ โดยขณะนั้นยังไม่มีภาคประชาชนเข้าร่วม จนต่อมามีการปรับปรุงกระบวนการ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.๒๕๓1 ที่กำหนดให้มีสมัชชา 3 ระดับ ได้แก่ ระดับท้องถิ่น ระดับรัฐและระดับรัฐบาลกลาง ที่จัดขึ้นทุก 4 ปี ที่ทำหน้าที่กำหนดกรอบแนวทางด้านสุขภาพ โดยระบุให้สมัชชาสุขภาพทุกระดับมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วยภาคประชาชนสัดส่วน ๕๐% , บุคลากรด้านสุขภาพ ๒๕% และผู้ให้บริการด้านสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันอีก ๒๕% ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันประเทศบราซิล มีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาแล้วทั้งสิ้น ๑๔ ครั้ง และสมัชชาสุขภาพแต่ละครั้งมีมติออกมาจำนวนมาก เช่น ครั้งที่ 13 มีมติออกมาทั้งสิ้นถึง ๘๕๗ มติ เป็นต้น
“จุดแข็งของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของบราซิล คือการดำเนินการของรัฐบาลอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้มากขึ้น สร้างโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น สะท้อนความต้องการในเชิงนโยบายด้านสุขภาพ และเพิ่มบทบาทให้กับ องค์กรนอกภาคสุขภาพ มากขึ้น แต่จุดอ่อนคือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจัดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการให้คำปรึกษาต่อกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทสูงมากในการพิจารณาว่าจะนำมติใดมาปฏิบัติบ้าง ซึ่งไม่ได้เลือกทุกมติมาปฏิบัติ”
ด้าน ดร.แพทริก กาดามา Director for Policy and Strategy of African Centre for Global Health and Social Transformation (ACHEST) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของประเทศยูกันดา คือการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการร่วมกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ รวมถึงร่วมตรวจสอบการทำงานขององค์กรด้านสุขภาพ โดยมีจุดเด่น คือ เป็นกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพระดับชาติที่เป็นระบบ องค์กรนอกภาคสุขภาพและประชาชนสามารถเข้าร่วมและตรวจสอบการทำงานได้ตลอดเวลา ส่วนจุดอ่อน คือขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ และกระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทสูงในการกำหนดประเด็นหรือระเบียบวาระ รวมถึงการพิจารณาคัดเลือกคนเข้าร่วม โดยบทบาทชุมชน หรือภาคประชาชนยังมีส่วนร่วมในกระบวนการค่อนข้างน้อย เนื่องจากองค์ความรู้ที่จำกัด รวมถึงในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ยังขาดข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้ประกอบการถกแถลงและการตัดสินใจ
ดร. ไมเคิล สปาร์กส์ ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการศึกษา (International Union of Health Promotion and Education: IUHPE) กล่าวว่า บทบาทของ IUHPE ถือเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ทำหน้าที่สนับสนุนประเทศสมาชิก เรื่องความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และเอื้อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนและทุกระดับในกระบวนการพัฒนานโยบาย กล่าวคือ IUHPE ไม่ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลของประเทศต่างๆเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความร่วมมือเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดแนวคิดเรื่องทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ ( Health in All Policies: HiAP)
“ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพเกิดขึ้นมากมายจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การศึกษาและสังคม ซึ่งทั้งรัฐบาลและองค์กรเอกชน ต่างรับรู้และตระหนักถึงประเด็นปัญหาเหล่านี้ดี แต่เมื่อคิดแล้วต้องลงมือแก้ไข หรือสนับสนุนให้เกิดผลอย่างแท้จริง”
ดร.เท็ดสุโร อิโรฮิระ แพทย์จากโรงพยาบาลซากุ เซ็นทรัล เมืองนากาโน ประเทศญี่ปุ่น ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจและการพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของญี่ปุ่น ว่าในช่วงก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.๒๔๙๐ พบว่า ชุมชนหลายเมืองยังมีฐานะยากจนและคุณภาพชีวิตไม่ดีนัก ขาดแคลนโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลก็ไม่เพียงพอ โดยได้ยกตัวอย่างเมืองนากาโน ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนต้นน้ำ สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง ๑,๐๐๐ เมตร ไม่สามารถปลูกข้าวได้ ประชาชนอยู่อย่างยากลำบาก แต่หลังจากมีรัฐธรรมนูญแล้ว เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรมีสิทธิถือครองที่ดิน มีการเรียนรู้เพื่อพึ่งพาตนเอง โดยได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์การเกษตร ริเริ่มระบบสุขภาพในชุมชน และสามารถสร้างโรงพยาบาลและธนาคารของตัวเองได้ จนปัจจุบันแนวคิดนี้ขยายไปสู่ชนบนกว่า ๑๐๐ แห่งทั่วประเทศ
“ผมทำงานพัฒนาสุขภาพ ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นมากว่า ๑๖ ปี ได้เรียนรู้ว่า บทบาทของรัฐบาล และบทบาทของชุมชน เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รัฐบาลจึงต้องตระหนักว่า จะทำอย่างไรให้ชุมชนมีความสุข และ เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการขับเคลื่อนสุขภาวะในชุมชนท้องถิ่นหลายแห่ง อาทิ ชุมชนหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ที่ผมเคยได้ไปร่วมทำงานด้วย เขาสามารถใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพ และธรรมนูญสุขภาพเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วม และสร้างชุมชนสุขภาวะของตนเองให้ดีขึ้น” ดร.เท็ดสุโร อิโรฮิระกล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit