โรคมะเร็ง เป็นโรคที่พบได้มากขึ้นในปัจจุบัน แต่หากพูดถึงมะเร็งโลหิตวิทยา หรือมะเร็งในระบบเลือดจะมี 3 โรคใหญ่ๆ ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งไขกระดูก โดยพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายคนเรา แม้ร่างกายจะมีกระบวนการจัดการความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ถ้าวันใดเกิดความไม่สมดุลในร่างกาย เช่น วิตกกังวล การติดเชื้อ การได้รับสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เสียสมดุลของกลไกทางภูมิคุ้มกัน เซลล์ที่ผิดปกติก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและควบคุมไม่อยู่จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
พลตรี นพ. นิวัฒน์ บุญยืน ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งโลหิตวิทยาเพิ่มจำนวนขึ้น จากสถิติของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลวัฒโนสถ ในช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 – 2555 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวม 463 ราย ซึ่งมีอัตราตัวเลขคนไข้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณ 15-20% ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งไขกระดูก รวม 53 ราย ส่วนผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว รวม 138 ราย ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี
“การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือที่เรียกว่า การปลูกถ่ายไขกระดูกนั้น ถือเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ ที่จะสามารถรักษาผู้ป่วยโรคทางมะเร็งโลหิตวิทยาให้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพ หรือมีโอกาสหายขาดได้” ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวัฒโนสถกล่าว วิทยาการใหม่นี้ จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ และประสบการณ์ในการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์มากที่สุด จึงเกิดเป็นความร่วมมือของโรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน และสถาบันมะเร็งที่มีชื่อเสียงและความชำนาญในระดับโลกเกิดขึ้น ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ โรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลศิริราช และ The University of Texas MD Anderson Cancer Center ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) MOU ในระดับภาควิชาและผู้ปฏิบัติงานในหัวข้อวิธีการรักษาโดยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด“Hematopoietic Transplantation” ที่จะสามารถทำให้แพทย์และพยาบาล รวมถึงบุคคลากรวิชาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ของทั้งสามองค์กรทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการรักษาผู้ป่วย, เทคโนโลยี, แลกเปลี่ยนข้อมูลของโรค, การส่งทีมบุคลากรทางการแพทย์ไปศึกษางาน, ข้อมูลเรื่องยา วิธีการรักษาใหม่ๆ และการวิจัยร่วมกัน เป็นต้น
ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการ ศูนย์ปลูกถ่ายไขกระดูกจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลศิริราช, อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ บอกเล่าถึงมะเร็งโลหิตวิทยาทั้ง 3 โรค โดยเริ่มจาก“มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” หรือ Lymphoma ที่จัดเป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทยและในโลก ติดอันดับ 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชายไทย สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น เกิดจากความผิดปกติในต่อมน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อลิมฟอยด์ต่างๆ แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin lymphoma (NHL) และชนิด Hodgkin disease (HD) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งสองชนิดจะมีอาการคล้ายกัน คือ มีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นหลัก แต่ NHL อาจเกิดก้อนโตที่อวัยวะอื่นๆ ได้บ่อยกว่า เช่น ที่ลำไส้ ปอด สมอง เป็นต้น “ในประเทศไทยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบส่วนใหญ่จะเป็นชนิด NHL ซึ่งยังสามารถแบ่งได้มากกว่า 30 ชนิดย่อย แต่ละชนิดจะใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป จึงมีความจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมอย่างละเอียดเพื่อให้ทราบถึงชนิดที่แท้จริงของมะเร็ง อันจะนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป” หากไม่ได้รับการรักษาแต่ต้น มะเร็งจะแพร่กระจายไปสู่ระบบต่างๆ ของร่างกาย และมีผลทำให้การทำงานของร่างกายล้มเหลวถึงแก่ชีวิตได้ ภูมิคุ้มกันลดลง ระบบป้องกันโรค และป้องกันการติดเชื้อลดประสิทธิภาพลงไป ร่วมกับการมีอาการผิดปกติข้างเคียงอื่นๆ สำหรับวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น คือ การคลำพบต่อมน้ำเหลืองโต บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ โดยไม่รู้สึกเจ็บ แต่จะค่อยๆ โตเป็นกลุ่ม มีขนาดใหญ่ขึ้น ผู้ป่วยจะมีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน และน้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน อาจมีตับหรือม้ามโตจากมะเร็งที่ไปแทรกในอวัยวะทั้งสอง ต่อมน้ำเหลืองที่เป็นมะเร็งจะโตเร็วมาก อาจเกิดแตกเป็นแผลและมีเลือดออกได้ ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ และขาหนีบ เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาแต่ต้น มะเร็งจะแพร่กระจายไปสู่ระบบต่างๆ ของร่างกาย และมีผลทำให้การทำงานของร่างกายล้มเหลวถึงแก่ชีวิตได้ ภูมิคุ้มกันลดลง ระบบป้องกันโรค และป้องกันการติดเชื้อลดประสิทธิภาพลงไป
“มะเร็งไขกระดูกมัลติเพิล มัยอิโลมา” (Multiple Myeloma-MM) เป็นโรคมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยาอีกชนิดหนึ่งที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของพลาสม่าเซลล์ในไขกระดูก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตของเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ โรคนี้พบบ่อยในคนอายุระหว่าง 40-70 ปี หรือ อายุเฉลี่ย 60 ปี จากอดีตจนถึงปัจจุบันองค์ความรู้ทางการแพทย์ ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคมะเร็งไขกระดูกมัลติเพิล มัยอิโลมาอย่างแน่ชัด ทำให้การป้องกันและรักษาโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ผลจากการศึกษาพฤติกรรมของโรคอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีสมมติฐานบางอย่างที่บ่งบอกว่า อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสบางชนิด รวมถึงสิ่งแวดล้อมบางอย่าง เช่น การทำอาชีพเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี สำหรับอาการของโรคนี้สามารถสังเกตได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากในระยะเริ่มต้นของโรคมักไม่มีอาการแสดง หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น อาการอ่อนเพลียซึ่งไม่จำเพาะเจาะจง แต่เมื่อมาถึงระยะท้ายของโรค อาการที่พบคือ ซีดอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ติดเชื้อได้ง่าย สำหรับวิธีการรักษาโรคมัลติเพิล มัยอิโลมา ต้องพิจารณาถึงหลายปัจจัย เนื่องจากผู้ป่วยมักเป็นผู้สูงอายุ และอาจมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่น การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือยากลุ่มใหม่ต่างๆ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด การฉายรังสี และการรักษาแบบประคับประคอง ตามความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ Leukemia เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของตัวอ่อนเม็ดเลือดขาว โดยมีการเพิ่มจำนวนอย่างไม่มีขีดจำกัด ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวจำนวนมากเกินจนเป็นอันตราย หลายคนรู้จักและเชื่อว่าเป็นโรคมะเร็งร้ายแรง รวมทั้งอยู่ค่อนข้างไกลตัว แต่ความจริงแล้วโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวนี้เป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อย และปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มากขึ้น มะเร็งเม็ดเลือดขาว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง ซึ่งชนิดเฉียบพลัน คือเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเป็นตัวแก่ได้ จนไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติในไขกระดูก ทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดขาวปกติน้อยลง เมื่อเม็ดเลือดแดงน้อยลงก็ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ส่วนเม็ดเลือดขาวเมื่อน้อยลงก็เกิดการติดเชื้อ และเกล็ดเลือดมีน้อยก็ทำให้เลือดออกง่าย สำหรับชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีจำนวนเม็ดเลือดขาวในเลือดสูง และเพิ่มจำนวนขึ้นมากทำให้ไปอยู่ที่ต่อมน้ำเหลือง ทำให้มีต่อมน้ำเหลืองโตหรือมีม้ามโต อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการแพทย์ในปัจจุบัน โดยมีแนวทางในการรักษา 3 วิธี คือ การให้ยาเคมีบำบัด การให้ยาในกลุ่ม Tyrosine Kinase Inhibitor และการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งถือเป็นวิธีรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำไขกระดูกของพี่น้องพ่อแม่เดียวกันที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันมาช่วยทำให้มะเร็งหายขาดได้ “การปลูกถ่ายไขกระดูกในปัจจุบัน สามารถจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งโลหิตวิทยาหายขาด หรือมีชีวิตที่ยืนยาวแบบปลอดโรค ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพการรักษา รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ เรียนรู้และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้ป่วยแต่ละคน และต่อวงการแพทย์ไทยโดยรวม” ศ.นพ.สุรพลชี้
คุณหมอสุรพลยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นการแทนที่เซลล์ที่ไม่แข็งแรงหรือเซลล์ที่ผิดปรกติในไขกระดูก ด้วยเซลล์ต้นกำเนิดที่แข็งแรงและปกติ เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด สามารถเก็บได้มาจาก 3 แหล่งในร่างกายมนุษย์ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจึงมักถูกเรียกเป็น การปลูกถ่ายไขกระดูก การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากกระแสเลือด และการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ปกติ สามารถหาได้จากผู้บริจาค ซึ่งอาจจะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรืออาจจะเป็นอาสาสมัครผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ (หรือในบางกรณีของโรคมะเร็ง อาจใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวผู้ป่วยเอง) เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนั้นจะถูกนำมาให้ผู้ป่วย (ผู้รับ) ทางสายสวนหลอดเลือดดำ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการเตรียมการโดยการรับยาเคมีบำบัดขนาดสูงแล้ว (บางกรณีใช้การฉายรังสีรักษาทั่วตัวร่วมด้วย) โดยเซลล์ต้นกำเนิดจะเจริญเติบโต เพิ่มจำนวน และพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ที่แข็งแรงในที่สุด
ทั้งนี้ในวันที่ 1 กันยายน 2556 เวลา 13.00 – 15.00 น. นี้ รพ.วัฒโนสถ รพ.ศิริราช และทีม Professor MD Anderson ได้ร่วมกันเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและญาติที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งโลหิตวิทยา รับฟังคำบรรยาย ถามตอบปัญหาข้อข้องใจ และผู้ป่วยบางรายจะได้รับคำปรึกษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ ทางทีมแพทย์จะเป็นผู้คัดเลือกผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาที่มีความซับซ้อน และต้องใช้ความรู้ความชำนาญของคณะแพทย์เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม CSR ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิเวชดุสิตในครั้งนี้ รวมประมาณ 5 – 10 ราย และยังเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้สนใจได้เข้าร่วมรับฟังแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าวได้ที่ โทร. 1719
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายสื่อสารการตลาด โรงพยาบาลกรุงเทพ
ปานฤทัย คงยิ้มละมัย (ปิงปอง) / พัชรินทร์ อร่ามวารีกุล (ใหม่) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70
-นท-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 17 เรื่อง "ความก้าวหน้านวัตกรรม เซลล์บำบัดมะเร็ง CAR-T cell โอกาสใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งชาวไทย" ในวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 เวลา 11.00 12.00 น. ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ลงทะเบียน เวลา 10.00 น.) เพื่อนำเสนอความคืบหน้าล่าสุดของนวัตกรรมการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดชนิด CAR-T cell ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะ
24 มีนาคม 2566 16:08 น.
พิธีเปิดงานสัมมนาเรื่อง มะเร็งระบบโลหิต วันเสาร์ ที่ 30 สิงหาคม 2557 เวลา 13.00 – 15.00 น. นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด “งานสัมมนาเรื่อง มะ...
ส.ค. 57
คณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับ โรงพยาบาลวัฒโนสถ (โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ) และคณะแพทย์จากสถาบัน MD Anderson Cancer Center ขอเชิญผู้ป่วย...
ส.ค. 57
พลตรี นพ. นิวัฒน์ บุญยืน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ พร้อมด้วย ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการ ศูนย์ปลูกถ่ายไขกระดูกจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลศิริราช และ มร.เคนท์ วอลล์เทอร์ ในนามคณะแพทย์จาก The University of Texas MD Anderson Cancer Center ประเทศสหรัฐอ...
ต.ค. 56