แคมป์เยาวชน และ การแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ I-BOT ปี 2556 ตอน Running Thailand

18 Nov 2013
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเปลี่ยนแปลงและแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในยุคที่กำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยเรายังให้ความสำคัญในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน น้อย และมีงบประมาณลงทุนวิจัยน้อย การกระตุ้นจูงใจให้เยาวชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่วัยเด็กจึงนับเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างนวัตกรรมและขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า
แคมป์เยาวชน และ การแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ I-BOT ปี 2556 ตอน Running Thailand

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึง ที่มาของโครงการแคมป์เยาวชนการแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ I-BOT ตอน Running Thailand ว่า “ ปัจจุบันวงการวิศวกรรมไอทีทั่วโลกขาดแคลนวิศวกรคอมพิวเตอร์และบุคคลากรสารสนเทศ 2 - 3 ล้านคน เฉพาะในสหรัฐขาด 450,000 คน ส่วนในภูมิภาคเอเซียรวมทั้งไทยประเมินว่าในปี 2558 จะมีปัญหาขาดบุคลากรไอทีราว 10 -15 % หากไทยละเลยการแก้ปัญหาขาดวิศวกรด้านไอที โดยเฉพาะในด้านความสามารถในการเชื่อมต่อ (Interface) ซอฟท์แวร์เข้ากับฮาร์ดแวร์ให้สื่อสารกันได้ สั่งงาน ใช้งานต่างๆ ก็อาจจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจทำให้ขีดความสามารถของประเทศลดลง โดยนอกจากจะถูกรุกตลาดจากต่างประเทศแล้วยังต้องนำเข้าบุคลากรด้วย ซึ่งจะเป็นการปิดประตูของโอกาสสำหรับธุรกิจและบุคลากรของไทย และอนาคตของประเทศ

โครงการแคมป์เยาวชนการแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ I-BOT เป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของ กลุ่มนักศึกษาปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมสารสนเทศ จำนวน 5 คน จากชุมนุมโรบอท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประกอบด้วย 1. น.ส.ชนกนาถ มีแก้ว 2 .นายณัฐพล เตชศิริกุลชัย 3. นายณรงค์เกียรติ นิระเคน 4. นายเตชินท์ ศิริเตชะวงศ์ 5. นายสหัสรังสี มนัสสา โดยทำค่าย I-BOT ภายใต้ธีม Running Thailand เปิดรับสมัครเยาวชนนักเรียนทั้งชาย-หญิง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศที่สนใจ และทำการคัดเลือกให้เหลือ 50 คนเข้าฝึกอบรมความรู้และสันทนาการโดยทีมนักศึกษาพี่เลี้ยง ที่คณะวิศวลาดกระบัง เพื่อเรียนรู้พื้นฐานวิศวกรรมศาสตร์โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของวิศวลาดกระบัง เช่น ความรู้ด้านเครื่องกล , คอมพิวเตอร์ , อิเลคทรอนิกส์ และการวัดคุม เป็นต้น พร้อมทั้งมีการฝึกฝนให้น้อง ๆ เรียนการออกแบบโปรแกรม และเขียนโปรแกรม เพื่อบังคับหุ่นยนต์ และมีการสอนความรู้เกี่ยวกับด้าน Mechanics , Electronics , Programming เป็นความรู้ระดับมหาวิทยาลัยที่ให้เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายได้เรียนรู้ “

วันสุดท้ายเป็นการนำผลงานมาแข่งขันบนเวที ณ ฟอร์จูนทาวน์ การแข่งขัน 1 ทีม มี 2 คน รวม 23 ทีม แต่ละทีมจะได้รับหุ่นยนต์ 1 ตัว มีล้อและเซ็นเซอร์ที่จะจับเกาะเส้นบนลู่ ที่พี่ ๆ ทีมงานกำหนดไว้ให้ และใช้จินตนาการตกแต่งหุ่นยนต์ภายใต้ ธีม Running Thailand การขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไกลและยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนามลู่วิ่ง 4 สนาม ซึ่งรองรับครั้งละ 4 ทีม เวลาในการเตรียมพร้อม 1 นาที แต่ละทีมจะปล่อยหุ่นยนต์ให้วิ่งไปบนลู่ ระหว่างทางเมื่อเจอจุดเช็คพอยท์ 4 -5 จุด หุ่นยนต์ต้องหันหน้าไปทางนั้น และเข้าสู่เส้นชัย โดยไม่แหกโค้ง หรือสะดุดหยุดนิ่ง

ผลการแข่งขันแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ I-BOT ตอน Running Thailand มี 4 รางวัล คือ

ทีมรันนิ่ง เกิร์ล คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ประกอบด้วยสองสาวน้อยคนเก่ง คือ 1.น.ส.รัมภา หิรัญสาโรจน์ จาก โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ.ปทุมธานี และ 2.น.ส.อภิญญา จิรปิติสัจจะ จาก โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพมหานคร น้อง ๆ ทีมผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า “ รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะว่าเป็นการร่วมกันทำงาน ถึงจะมีอุปสรรคบ้างแต่เราก็ผ่านมันไปได้ด้วยดีค่ะ ขอบคุณคณะวิศวลาดกระบังที่ให้ความรู้และประสบการณ์ ทั้งทักษะการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ให้เดินตามเส้นและได้รู้จักอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ใหม่ ๆ ในหุ่นยนต์ ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ได้รับมิตรภาพดี ๆ จากเพื่อนๆที่ร่วมเข้าแคมป์ และที่ขาดไม่ได้คือ ตัวเราเอง ที่สามารถเอาชนะอุปสรรคในการทำงานครั้งนี้ได้ การจัดกิจกรรม I-BOT ในครั้งนี้นำไปต่อยอดในอนาคตได้ค่ะ และได้มุมมองที่กว้างขึ้นสำหรับแนวทางการศึกษาต่อไปด้วย”

ทีม มินเนียน โรบอท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประกอบด้วย 3 คนคือ 1.น.ส.ฐิติญา ไชยปัญญา จาก โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน ม.พระนครเหนือ กรุงเทพมหานคร 2.นายติฐรัตน์ สูงสุมาลย์ จากโรงเรียนสีกัน วัฒนานันท์อุปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร และ3.นายอดิศัย ศรีวราสาสน์ จากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จ.นครปฐม น้อง ๆ กล่าวสรุปว่า “ ดีใจมาก ไม่คิดว่าจะได้รับรางวัลนี้ ซึ่งการเข้าค่ายในครั้งนี้ได้เรียนรู้การทำงานของหุ่นยนต์อัตโนมัติทั้งระบบ ได้ใช้วิชาการหลายด้าน ทำให้เห็นภาพรวม แม้จะมาจากต่างโรงเรียน แต่เราทำงานเป็นทีมได้อย่างดี ร่วมมือกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหุ่นยนต์ ได้ความสามัคคีช่วยเหลือกัน พี่ ๆ วิศวลาดกระบังคอยให้คำแนะนำและเอาใจใส่ โครงการแคมป์เยาวชนและแข่งขันหุ่นยนต์ I-BOT เป็นประโยชน์มากกับคนรุ่นใหม่ ได้มาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้คิดเป็นทำเป็น อนาคตเราอาจจะมี สตีฟ จ๊อบ เมืองไทยก็เป็นได้”

ทีมสปีดิ้ง รันเนอร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประกอบด้วย 1.นายอัครนิธิ์ ส่องสมบูรณ์ จาก โรงเรียนโยธินบูรณะ และ2.น.ส.ชวิศา ชนกโอวาท จาก โรงเรียนศึกษานารี กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ เป็นช่วงปิดเทอมที่ตื่นเต้น มีคุณค่าและใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะไม่คาคคิดมาก่อน ได้รับความรู้วิธีการเขียนโปรแกรมภาษาซี และการเชื่อมต่อโปรแกรมให้หุ่นยนต์สามารถสื่อสารและทำงานได้ตามที่กำหนด ประทับใจในประสบการณ์ใหม่ ๆ ในเรื่องเทคโนโลยีในการควบคุมระบบอัตโนมัติแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นความรู้ระดับปริญญาตรีที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อนร่วมทีมที่ช่วยกันคิดแก้ปัญหา ธีมการแข่งขัน I-BOT ปีนี้คือ Running Thailand กระตุ้นให้เยาวชนนักเรียนได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดโลกทัศน์เติมประสบการณ์ดี ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในอนาคต”

ทีมรันเนอร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ประกอบด้วย 1.น.ส.เพชรไพริน สาระพันธ์ จาก โรงเรียนวังโป่งพิทยาคม จ.เพชรบูรณ์ 2.น.ส.ปัณฑ์ชนิต อิทธิศักดิ์สกุล จากโรงเรียนโยธินบูรณะ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “พวกเราทั้งคู่ต่างไม่มีพื้นฐานด้านหุ่นยนต์มาก่อนเลย แต่เหมือนมีแรงกระตุ้นทำให้เราสนุกกับวิทยาการใหม่ๆ เมื่อได้รางวัลรองอันดับ 3 ในการแข่งขันจึงรู้สึกดีใจมาก ๆ ที่เราทำได้ ถึงจะมีปัญหามากมาย แต่เราก็สู้ ไม่ท้อถอยค่ะ จากความรู้ทางทฤษฏี เราได้ฝึกฝนทำให้เป็นจริงในภาคปฎิบัติ น่าตื่นเต้นมาก ที่หุ่นยนต์สามารถเดินไปตามเส้นทางที่เลี้ยวไปมา เคลื่อนไหวทางซ้าย หรือ ทางขวาได้ เมื่อเจอเช็คพอยท์ ( Check point ) การใช้ชีวิตร่วมกัน 5 วัน กับเพื่อนในค่ายหุ่นยนต์เป็นความทรงจำที่ดี ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน และได้เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ ทั้งในโลกวิศวกรรม และโลกของภายนอก ทำให้เราได้พกพาความรู้และประสบการณ์ ความสุขและมิตรภาพกลับบ้านค่ะ ”

นับเป็นโครงการที่ช่วยฝึกความเป็นผู้นำของนักศึกษาในการคิดประเมินผล วางแผน และควบคุมดูแล การสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม พร้อมไปกับเยาวชนนักเรียนได้เรียนรู้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นเรื่องสนุกที่เขาทำได้ หากเขาใฝ่รู้ มุ่งมั่นสร้างสรรค์และฟันฝ่า