หลังจากที่ กสทช.เผยข้อมูลด้านการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมยื่นซองประมูล ทำให้การประมูลดิจิตอลทีวีในเมืองไทยเดินหน้าตามกำหนด และคาดว่าจะไม่มีการเลื่อน คือในช่วงกลางเดือนธันวาคมปีนี้ถึงเดือนมกราคมปีหน้า (30 วันนับจากอนุมัติรายชื่อผ่าน) ในระหว่างที่การจัดประมูลสัมปทานการถ่ายทอดของทางภาครัฐยังคงดำเนินต่อไป ทางภาคเอกชนก็มีข่าวออกมาเป็นระยะในเรื่องของการจัดระเบียบผังรายการและการแบ่งสรรปันส่วนของสปอนเซอร์โฆษณา
นาย ธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์ ด้านไอซีที บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ประเด็นต่อไปที่มีความท้าทายต่อทุกฝ่าย คือผลกระทบของระบบดิจิตอลทีวีที่จะมีต่อผู้บริโภค กล่าวคือประเทศไทยเรามีโทรทัศน์ตั้งอยู่แทบทุกหลังคาเรือนแต่มีคนเพียงจำนวนน้อยที่ได้รับข้อมูลข่าวสารและคำชี้แจงในเรื่องของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลรายละเอียดในเรื่องการเตรียมตัวให้กับผู้บริโภคนั้นยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น”
ประเด็นที่ใกล้ตัวที่สุดเรื่องการเตรียมตัวของผู้บริโภค คือเรื่องเครื่องรับโทรทัศน์ในบ้าน ด้วยความที่จอโทรทัศน์ที่เราใช้ดูกันในบ้านปัจจุบันนี้เป็นระบบอนาล็อกแทบทั้งสิ้น ดังนั้นสิ่งที่จะมารองรับเพื่อให้จอโทรทัศน์แบบเดิมสามารถรับชมด้วยระบบดิจิตอลได้ คือSet Top Box หรือกล่องแปลงสัญญาณที่จะเข้ามาช่วยแปลงสัญญาณดิจิตอลที่ใช้ถ่ายทอดให้เป็นสัญญาณอนาล็อกก่อนที่จะส่งเข้าเครื่องโทรทัศน์ของเรา
“สิ่งที่ยังไม่ได้มีการกำหนดแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน คือจะทำให้กล่องแปลงสัญญาณนี้ไปอยู่กับโทรทัศน์ครบทุกเครื่อง หรือทำให้คนไทยเปลี่ยนมาใช้เครื่องโทรทัศน์ที่รองรับสัญญาณดิจิตอล ก่อนปี พ.ศ.2563ได้อย่างไร เพราะในปีนั้นเป็นเส้นตายที่จะยกเลิกออกอากาศด้วยสัญญาณอนาล็อกอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะทาง กสทช.จะมีมติให้มีการแจกคูปอง 22 ล้านใบเพื่อให้ประชาชนนำไปแลกซื้อ Set Top Boxแต่เมื่อเวลาดังกล่าวนั้นมาถึง หากประชาชนบางส่วนยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนระบบ อาจทำให้เกิดความวุ่นวายได้ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเปลี่ยนถ่ายคลื่นสัญญาณ 1800 MHz ของบริการโทรศัพท์มือถือช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา”
นอกจากนี้ นายธีระ ยังได้ให้ความเห็นในเรื่องคุณภาพของเนื้อหาและการออกใบอนุญาตว่า “ในเวลานี้ถ้านับรวมช่องรายการโทรทัศน์ที่มีการเผยแพร่ออกอากาศแบบฟรีทีวีบ้านเรามีมากกว่า 300 ช่องให้เลือกรับชม โดยเหมารวมทั้งที่เป็นช่องรายการของไทยและช่องรายการจากต่างประเทศ โดยที่การควบคุมคุณภาพของรายการและความเหมาะสมต่อกลุ่มผู้ชมในแต่ละช่องยังคงเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบันความรับผิดชอบในการดูแลเนื้อหารายการที่ออกอากาศนั้นยังเป็นหน้าที่ของทางช่องสัญญาณผู้ออกอากาศที่ต้องเซ็นเซอร์รายการตัวเอง ซึ่งแม้ว่าจะมีบทลงโทษที่ชัดเจน แต่มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เนื้อหาอันไม่เหมาะสมได้รับการออกอากาศสู่สาธารณะไปแล้ว”
“ดังนั้นถ้ามีการปฏิรูปการออกอากาศในระบบดิจิตอลแล้วสิ่งที่น่าจะทำไปพร้อมๆกันก็คือ การปฏิรูปรูปแบบการบริหารจัดการสื่อโทรทัศน์แบบบูรณาการ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกใบอนุญาตจนถึงการดูแลเนื้อหาของสื่อเพื่อความเหมาะสมและประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคชาวไทย ”นักวิเคราะห์จากฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวนให้ความเห็นทิ้งท้าย
เกี่ยวกับฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน
ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวนคือองค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก ซึ่งมีทีมวิจัยและที่ปรึกษาทางธุรกิจที่เปี่ยมไปด้วยความชำนาญเฉพาะด้านและมีศักยภาพสูงในการให้คำปรึกษารวมถึงการคิดวิเคราะห์เพื่อช่วยให้องค์กรมีพัฒนาการและการเติบโตทางธุรกิจที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบัน ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวนมีสำนักงานมากกว่า 40 แห่งใน 6 ทวีปทั่วโลก และเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มากกว่า 100 บริษัททั่วทุกภูมิภาค
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.frost.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit