ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร & พันธบัตรไม่มีประกัน “บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย” เป็น “AA-” จาก “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

          ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและพันธบัตรไม่มีประกันของ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เป็นระดับ “AA-” จากระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจและการเงินของ บตท. ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลในฐานะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ บตท. มีบทบาทในการส่งเสริมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทยและมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับสิทธิพิเศษด้านกฎหมายและการยกเว้นภาษีภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 รัฐบาลยังแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนโดยการอนุมัติเงินเพิ่มทุนในปีงบประมาณ ด้วยอันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. มีแนวโน้มที่ดีหลังประสบความสำเร็จจากโครงการความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้พอร์ตสินเชื่อโตขึ้น 3 เท่าจากปีก่อน นอกจากนี้ บตท. ยังมีกำไรติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีแม้จะมีความผันผวน อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. มีข้อจำกัดจากปัจจัยหลายประการ อาทิ การคงระดับและการเพิ่มขนาดของพอร์ตให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลง และภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจในตลาดแรกที่ไม่เอื้ออำนวย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ในระยะปานกลางว่าผู้บริหารของ บตท. จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งสามารถซื้อพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากจากสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรได้ตามแผน แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของ บตท. กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
          บตท. ก่อตั้งในปี 2540 ภายใต้ พ.ร.ก. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว รัฐบาลสามารถค้ำประกันตราสารหนี้ที่ออกโดย บตท. ได้ไม่เกิน 4 เท่าของเงินกองทุน ต่อมาในเดือนมกราคม 2552 กระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนให้แก่ บตท. อีก 100 ล้านบาท และล่าสุดกระทรวงการคลังยังอนุมัติการเพิ่มทุนให้อีกจำนวน 130 ล้านบาทสำหรับปีงบประมาณ 2557 ซึ่งเงินทุนดังกล่าวสามารถซื้อพอร์ตสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นจาก 27,000 ล้านบาทเป็น 31,000 ล้านบาท คณะกรรมการของ บตท. ประกอบด้วยตัวแทนที่หลากหลายจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมที่ดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยผู้มีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะสมอีก 4 ตำแหน่งและกรรมการผู้จัดการของ บตท. ทั้งนี้ โครงสร้างคณะกรรมการของ บตท. มีความเหมาะสมในการรองรับการดำเนินงานตามพันธกิจ 
          เป้าหมายในการก่อตั้ง บตท. คือ การสร้างตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราคงที่ระยะยาวแก่ผู้ซื้อบ้าน ซึ่งประมาณ 80% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในพอร์ตของ บตท. เป็นการซื้อมาจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตลาดแรกแล้วนำมารวมกันเพื่อสร้างตราสารทางการเงินที่มีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลังและขายตราสารดังกล่าวให้แก่นักลงทุน 
          บตท. มีโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นหลังจากสามารถบรรลุเป้าหมายกลยุทธ์ทางธุรกิจหลายประการ ตัวอย่างคือการขยายความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินพันธมิตรเป็นจำนวนมากและพันธมิตรดังกล่าวได้ขายพอร์ตสินเชื่อมาให้ บตท. ตั้งแต่ปี 2552-2556 โดย บตท. ได้สร้างยอดสินเชื่อคงค้างใหม่อีกประมาณ 152 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2553 และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 392 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2554 ในปี 2555 บตท. ได้ซื้อสินเชื่อใหม่จากโครงการร่วมมือกับพันธมิตรรวม 3,256 ล้านบาท บตท. ยังมีแผนจะเพิ่มพันธมิตรใหม่มากขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลให้ บตท. มีพอร์ตสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 1,732 ล้านบาท ในปี 2554 เป็น 4,756 ล้านบาทในปี 2555 และเป็น 4,599 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 
          การควบคุมคุณภาพสินเชื่อเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับ บตท. เนื่องจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นทำให้ บตท. มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 329 ล้านบาทในปี 2550 หลังจากที่มีผลขาดทุนสุทธิ 99 ล้านบาทในปี 2549 และ 120 ล้านบาทในปี 2548 ภายหลังจากการตัดจำหน่ายหนี้สูญจำนวน 318 ล้านบาทในปี 2550 แล้ว อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ บตท. ก็ลดลงจาก 39.79% ในปี 2549 มาอยู่ที่ระดับ 6.90% ในปี 2550 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 8.94% ในปี 2551 และเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 18.84% ในปี 2554 ในปี 2555 ผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของพอร์ตสินเชื่อทำให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 5.57% และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 6.32% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับ 3.01% ของธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง และระดับ 4.81% ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 7 แห่ง อย่างไรก็ตาม สัดส่วน 71% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ บตท. เป็นสินเชื่อที่จัดซื้อก่อนปี 2549 ในขณะที่ 29% เป็นสินเชื่อที่ซื้อมาในปี 2552-2555 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของสินเชื่อที่จัดหามาในช่วงปี 2552-2555 ซึ่งเป็นช่วงที่สินเชื่อของ บตท. เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจจำกัดการขยายธุรกิจและการทำกำไรของ บตท. ในอนาคต
          ในปี 2551 บตท. รายงานผลกำไรสุทธิ 22 ล้านบาทหลังจากขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี และรายงานผลกำไรสุทธิ 26 ล้านบาทในปี 2552 ในขณะที่ในปี 2553 บตท. มีกำไรสุทธิเพียง 0.3 ล้านบาทเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IAS39 และการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน ในปี 2554 กำไรสุทธิของ บตท. ฟื้นตัวขึ้นเป็น 4 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 9.9 ล้านบาทในปี 2555 จากการขยายตัวของสินเชื่อและการมีค่าใช้จ่ายสำหรับรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับครึ่งแรกของปี 2556 บตท. มีกำไรสุทธิ 18 ล้านบาทซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เข้ามาจากพอร์ตสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น 
          ฐานเงินทุนหลักของ บตท. มาจากตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 มีสัดส่วนคิดเป็น 84% ของเงินทุนรวม ในเดือนกรกฎาคม 2556 บตท. เพิ่มแหล่งเงินทุนโดยการออกพันธบัตร 1,000 ล้านบาท ทำให้ฐานเงินทุนที่มาจากตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นลดลงเหลือ 67% นอกจากนี้ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 บตท. วางแผนจะหาแหล่งเงินทุนจากการออกตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง (Mortgage-backed Securities -- MBS) เพื่อให้สอดคล้องกับมูลค่าและระยะเวลาของสินเชื่อที่ซื้อมา 2,000 ล้านบาท บตท.ประสบความสำเร็จในการออก MBS และตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินทรัพย์หนุนหลัง (Asset-backed Securities -- ABS) ถึง 5 ครั้ง ซึ่งหากการออกตราสาร MBS และ ABS ประสบความสำเร็จก็จะส่งผลบวกต่อ บตท. กล่าวคือ จะช่วยให้ บตท. สามารถทำตามพันธกิจในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและจะช่วยเพิ่มประเภทของตราสารทางการเงินใหม่ ๆ เช่น MBS เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุน และจะช่วยลดความไม่สมดุลระหว่างโครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สินของ บตท. ในปัจจุบัน

          บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (SMC)
          อันดับเครดิตองค์กร: AA-
          อันดับเครดิตตราสารหนี้:
          SMC147A: พันธบัตรไม่มีประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 AA-
          SMC147B: พันธบัตรไม่มีประกัน 350 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 AA-
          แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย+สถาบันการเงินเฉพาะกิจวันนี้

บตท. แถลงผลงาน 3 ไตรมาส กำไรทะลุ 100 ล้าน ชูดอกเบี้ยบ้านคงที่ 10 ปี เสนอลูกค้า ลดเสี่ยงดอกเบี้ยขาขึ้น

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) รัฐวิสาหกิจ ประเภทสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลงาน 3 ไตรมาส (มกราคม – กันยายน 2561) มีกำไรสุทธิ 104 ล้านบาท จากการดำเนินงานและการเร่งแก้ปัญหาหนี้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 57 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงกระบวนการภายใน คาดว่าปี 2561 จะเป็นปีที่มีกำไรสูงที่สุดของ บตท. ตั้งแต่ก่อตั้งมา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 บตท. มีสินทรัพย์ รวม 19,161 ล้านบาท มีตราสารหนี้โครงการ

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 บรรษัทตลาดรองส... ภาพข่าว: บตท. ออกบูธจำหน่ายทรัพย์ NPA ชั้นดี ครั้งที่ 7 — เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินเฉ...

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 บรรษัทตลาดรอง... บตท. ออกบูธจำหน่ายทรัพย์ NPA ชั้นดี ครั้งที่ 4 — เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ...

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 บรรษัทตลาดรอง... บตท. ออกบูธจำหน่ายทรัพย์ NPA ชั้นดี ครั้งที่ 3 — เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ...

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 บรรษัทตลาดรอ... ภาพข่าว: บตท. ร่วมพิธีเปิดตลาดนัดประชารัฐวายุภักษ์รักประชาชน ครั้งที่ 7 — เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) รัฐวิสาหกิ...

บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ("บตท."... ลูกค้าสินเชื่อบ้านปลื้ม บตท. ปรับระบบตัดชำระเงินกู้บ้านใหม่ เพื่อเป็นของขวัญรับปีใหม่ 2561 — บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ("บตท." หรือ "SMC") รัฐวิสา...

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัด... ภาพข่าว: บตท. และ ธพว. เปิดงานมหกรรมขายทรัพย์ NPA ส่งท้ายปี 2560 — นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย และนายมงค...

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 นางวสุกานต์ ... ภาพข่าว: บตท. และ ธพว. ลงนาม MOU โครงการทรัพย์สินรอการขาย — เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่...