กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TCELS) ห่วงผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วในทะเลบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง จึงได้มอบหมายให้ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ให้ความรู้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ในการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพอันเกิดจากคราบน้ำมัน
นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า สารเคมีประกอบด้วยหลายอย่างที่ซับซ้อนซึ่งมีส่วนที่เป็นพิษ (Toxic compounds) มีสิ่งที่จะส่งผลกระทบได้เยอะมากกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ดังนั้นกระบวนการกำจัดจึงต้องวางแผนให้ดีอย่างรอบคอบ เป็นขั้นตอน แต่ก็รอช้าไม่ได้เพราะผลกระทบต่อชีวิตทั้งในทะเลและบนบกจะเกิดขึ้นทันที โดยเฉพาะอาหารทะเล ที่จะได้รับสารพัดสารเคมีทีมีอยู่ในน้ำมันดิบ โดยเฉพาะสารพิษในกลุ่ม ไฮโดรคาร์บอน เช่น “พีเอเอช(PAHs)” ซึ่งสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ทำมาหากินอยู่บริเวณที่มีน้ำมันรั่วก็มีสิทธิ์ปนเปื้อนเข้าไปได้สูงและจะจับสะสมอยู่ในไขมันปลา,ไข่ปลา,ไข่กุ้ง,ไข่ปู ตามองคาพยพหลายส่วนของสัตว์น้ำ และเมื่อมันตายจากพิษน้ำมันดิบ ตัวมนุษย์ที่จับเหล่านี้ขึ้นมากินก็มีสิทธิ์ได้รับช่วงสารเคมีที่ว่านี้ต่อเช่นกัน
“อย่าลืมว่าน้ำมันดิบไม่ได้จับอยู่แค่ผิวหน้ามหาสมุทรเท่านั้น ที่ท่านเห็นกระเพื่อมดำมะเมื่อมอยู่นั้นเป็นเพียงส่วนเดียว แต่มันยังมีส่วนที่ทำปฏิกิริยากับแสงแดด จนเปลี่ยนเป็นสารพิษอันตรายและพิษอีกส่วนก็ระเหย คือลอยล่องขึ้นสู่อากาศดังนั้นมันจะกลายเป็นมลภาวะที่เรามองไม่เห็นแต่ สูดได้ เข้าไปในทางเดินหายใจ พิษพวกนี้เข้าไปกวนได้ถึงระดับ “ดีเอ็นเอ(DNA)” ที่อยู่ลึกล้ำในเซลล์สิ่งมีชีวิต ส่วนไอระเหยน้ำมันรั่วที่ว่าถ้าสัมผัสก็ทำให้เกิดอาการแสบหูแสบตาระคายเคืองเนื้อเยื่ออ่อน,เจ็บคอและแสบจมูกเมื่อสูดเข้าปอดและส่วนหนึ่งทำอันตรายระบบประสาท ทำให้มีคลื่นไส้อาเจียนได้ด้วย” น.พ.กฤษดา กล่าว
ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ฯ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างคือ สัตว์ทะเลจะลดลง เนื่องจากไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ สารพิษทั้งหลายที่เกิดจากน้ำมันดิบก็ทำให้มันค่อยๆพากันตายลง การทำประมงรวมถึงแหล่งประมงที่มีจำกัดอยู่แล้วก็จะยิ่งน้อยลง จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลผลิตที่ได้จะหายไปมาก อาหารที่จะมาจุนเจือเลี้ยงคนก็ลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ชีวิตผู้คนแถบริมทะเล เช่น ป่าชายเลน สัตว์น้ำ รวมถึงนก ปลาโลมา และเต่าทะเลที่หากินตามชายฝั่งที่ใกล้สูญพันธุ์ ระบบนิเวศน์ จะได้รับผลกระทบโดยตรง และแน่นอนว่าในภาพรวมของการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมก็จะมีปัญหา ที่ต้องเร่งเยียวยาทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว นอกจากนี้สิ่งที่ไม่ควรลืมคือ ผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคน จากภาวะตกงาน ธุรกิจฟุบ หมดแหล่งทำมาหากิน อาหารการกินร่อยหรอ การแก้ปัญหาจึงต้องเร่งฟื้นฟูจิตใจในรายที่มีภาวะเครียดและซึมเศร้าแฝงมาด้วย
น.พ.กฤษดา กล่าวว่า การวางแผนแก้ไขและฟื้นฟู ไม่เพียงแต่เร่งขจัดด้วยไฮเทคหลากหลายวิธีจะดีเสมอไป อาจทำให้ยิ่งแย่หนักกว่าเดิมได้ ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่นปริมาณของน้ำมัน,ชนิดของน้ำมัน,กระแสน้ำ,กระแสลมและสถานที่นั้นๆ หนึ่งในวิธีที่ช่วยล้างพิษของน้ำมันรั่วที่เริ่มใช้กันมากคือใช้ “จุลินทรีย์” ช่วยเก็บกวาด มีการศึกษาถึงจุลินทรีย์ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alcanivorax borkumensis เป็นจุลินทรีย์ช่วยย่อยไฮโดรคาร์บอนคราบน้ำมัน โดยใส่จุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยคราบน้ำมันลงไปแล้วปล่อยให้มันทำงานสลายน้ำมันที่เลอะเทอะนี้ไปเรื่อยจนหมด ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่อ่าวเม็กซิโก ก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นทางเดียวที่จะทำได้ในตอนนี้คือต้องช่วยกันมองให้รอบ ถึงผลกระทบของน้ำมันที่อาจมีได้ในทุกด้าน ยิ่งมองได้กว้างเท่าไรก็ยิ่งตีกรอบแก้ปัญหาให้ครอบคลุมเท่านั้น เพราะถ้ากลับมามองให้ดีว่าน้ำมันดิบก็เป็นของธรรมชาติ ดังนั้นก็น่าจะใช้ธรรมชาติด้วยกันช่วยปราบ
“เชื้อแบคทีเรีย อัลคานิโวแร็กซ์(Alcanivorax) มีพบมากในมหาสมุทร เชื้อนี้ชอบกินคราบไขมันเป็นอาหาร ซึ่งเรื่องนี้คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันนำโดย เทอรี่ ฮาเซน เพิ่งค้นพบเมื่อตอนที่น้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก พอเอาตัวอย่างน้ำทะเลในบริเวณนั้นมาตรวจแล้วพบเชื้อกินน้ำมันรั่วนี้มากมายถึง 16 ชนิด ด้วยกันเพียงแค่ 1 เดือนหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วเท่านั้น สำหรับที่อยู่ของพวกมันลึกประมาณ 1 กิโลกว่าใต้ผิวน้ำ แบคทีเรียกลุ่มนี้มีชื่อว่า “โอเชียโนสไปราลลีส (Oceanospiralles) ซึ่งเชื้ออัลคานิโวแร็กซ์ที่กล่าวถึงข้างต้นก็อยู่ในกลุ่มนี้ มีความสามารถในการกินน้ำมันดิบได้ดีโดยมีข้อจำกัดอยู่บ้างคือมันย่อยได้เฉพาะสารกลุ่มไฮโดรคาร์บอนในน้ำมันดิบ ดังนั้นที่ไหนมีน้ำมันดิบถ้ามีเชื้อที่ว่านี้อยู่มันก็จะเจริญเติบโตได้ดีเหมือนกับมีแหล่ง บุฟเฟ่ต์ขนาดยักษ์ให้มันกินอย่างไม่อั้น ซึ่งมันอาจเป็นทางออกของปัญหาน้ำมันรั่วได้” นพ.กฤษดา กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อ:
www.tcels.or.th, www.facebook.com/tcelsfan, 02-6445499
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit