ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ BBL SCB และ KBANK แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

03 Jun 2013

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-Currency IDR) ของธนาคารทั้งสามแห่ง อยู่ที่ระดับ ‘BBB+’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating, VR) อยู่ที่ระดับ ‘bbb+’ และอันดับเครดิตในประเทศ ที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สำหรับรายละเอียดอันดับเครดิตอื่นแสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของธนาคารทั้งสามแห่งสะท้อนการมีเครือข่ายในประเทศที่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โครงสร้างเงินกู้ยืมและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ฐานะเงินกองทุนที่เหมาะสม และความสามารถในการทำกำไรที่ดี

ธนาคารทั้งสามแห่งมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 2555 มีการเติบโตทั้งในด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย โดยได้รับการขับเคลื่อนจากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการเป็นผู้นำในตลาดของธนาคารทั้งสามแห่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่รายงานออกมายังมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอยู่ในระดับดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานที่ดีดังกล่าว ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของสินเชื่อที่ดีในสภาวะแวดล้อมที่ผ่อนคลาย ทั้งนี้ สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษรวมกับสินเชื่อปรับโครงสร้างยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่คาดว่าอัตราการเปลี่ยนไปเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้น่าจะอยู่ในระดับต่ำ โครงสร้างเงินกู้ยืมและสภาพคล่องยังดีแม้สินเชื่อจะเติบโตสูง เนื่องจากการมีเครือข่ายเงินฝากที่เข้มแข็ง ฟิทช์คาดว่าธนาคารทั้งสามยังน่าจะมีการเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากมุมมองเศรษฐกิจในปัจจุบันรวมถึงพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งของธนาคาร

BBL โดดเด่นในด้านการดำรงฐานะเงินกองทุน อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และสภาพคล่องรวมถึงโครงสร้างเงินกู้ ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนการทำกำไรของ BBL ค่อนข้างต่ำกว่า SCB และ KBANK เนื่องจากการที่ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเปรียบเทียบในระดับสากลกับธนาคารอื่นที่อยู่ในอันดับเครดิตระดับเดียวกัน การที่ธนาคารมีจุดเด่นด้านสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ อาจทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของสินเชื่อ (loans concentration) เพิ่มขึ้นจากความเป็นไปได้ที่จะมีการปล่อยกู้บริษัทเพื่อการซื้อหรือควบรวมกิจการขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ฐานะเงินกองทุนและสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่อยู่ในระดับสูงของธนาคารน่าจะเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้เพียงพอ หากการการกระจุกตัวดังกล่าว และการยอมรับความเสี่ยงของธนาคารไม่เพิ่มมากจนเกินไป

KBank มีการปรับตัวดีขึ้นในด้านฐานะเงินกองทุน จากเดิมที่อยู่ในระดับต่ำกว่าธนาคารอีกสองแห่ง โดยฐานะเงินกองทุนเพิ่มขึ้นจากกำไรสะสม และการที่ธนาคารมีการเติบโตสินเชื่อไม่สูงมากนัก ธนาคารมีการกระจุกตัวของสินเชื่อน้อยกว่าธนาคารอีกสอง แห่ง เนื่องจากธนาคารมีสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในสัดส่วนสูงกว่า คุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวอาจจะมีความผันผวนต่อเศรษฐกิจมากกว่าสินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ความเสี่ยงดังกล่าวสามารถรองรับได้ด้วยอัตราส่วนการทำกำไรที่สูง และเงินกองทุนที่เพียงพอของ KBank อย่างไรก็ดี ฟิทช์ยังต้องติดตามการเติบโต โดยตั้งข้อสังเกตถึงการก่อหนี้เพิ่มขึ้นของทั้งระบบในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา

เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มธนาคารใหญ่ทั้งสามแห่ง ฟิทช์เห็นว่า SCB มีการทำธุรกิจที่ยอมรับความเสี่ยง (risk appetite) สูงที่สุด โดยพิจารณาจากการเติบโตสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูงกว่าธนาคารอีกสองแห่ง และสูงกว่าอุตสาหกรรม รวมถึงการมีสินเชื่อกับธุรกิจบางแห่งที่มีฐานะการเงินอ่อนแอ ทั้งนี้ หากธนาคารมีการปล่อยกู้วงเงินสูงกับธุรกรรมซื้อหรือควบรวมกิจการขนาดใหญ่ อาจทำให้ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของสินเชื่อเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจมีแรงกดดันต่อเงินกองทุนและเพิ่มความผันผวนของคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงเศรษฐกิจขาลง ฐานะเงินกองทุนของ SCB ถือว่าเพียงพอในปัจจุบัน แม้ว่าจะลดลงจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง ทั้งนี้ ฟิทช์คาดว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะลงมาอยู่ในระดับปานกลางและไม่เป็นแรงกดดันต่อฐานะเงินกองทุน คุณภาพสินทรัพย์และสำรองหนี้สงสัยจะสูญมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในระดับเดียวกันกับธนาคารใหญ่ทั้งสองแห่ง ทั้งนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความสามารถในการทำกำไรของ SCB ถือว่ามีความโดดเด่นกว่าธนาคารใหญ่อื่น และน่าจะเป็นส่วนช่วยรองรับความเสี่ยงหากคุณภาพสินทรัพย์มีการถดถอยลงในระดับปานกลาง

BBL เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในด้านสินทรัพย์ และมีสัดส่วนธุรกิจในต่างประเทศมากที่สุดในกลุ่มธนาคารไทย SCB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่เก่าแก่ที่สุด และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ส่วน KBank เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของประเทศ BBL เป็นผู้นำในด้านสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ SCB เป็นผู้นำในด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภค ส่วน KBank เป็นผู้นำในด้านสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

การปรับเพิ่มอันดับเครดิต อาจพิจารณาจากการปรับตัวดีขึ้นอย่างยั่งยืนของสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจภายในประเทศ และการปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่องของฐานะทางการเงินโดยรวมของธนาคาร โดยที่ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ไม่เพิ่มขึ้น หรือมีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับภาครัฐ

การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ ที่อาจส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรหรือเงินกองทุนลดลง ตัวอย่างของเหตุการณ์ดังกล่าวอาจรวมถึง การเพิ่มระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้จากการเพิ่มระดับการกระจุกตัวของสินเชื่อ และ/หรือ การเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงเกินไป โดยที่ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงไม่ได้ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้น โดยความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอาจสะท้อนจากผลการดำเนินงานหรือเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้น ทั้งนี้ความเสี่ยงดังกล่าวอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าในกรณีของ SCB (ซึ่งมีการเติบโตและการกระจุกตัวของสินเชื่อสูง) และ BBL (มีการกระจุกตัวของสินเชื่อสูง) เมื่อเทียบกับ KBank ในกรณีของ SCB การลดลงของความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอันเกิดจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง ได้แก่ การที่ฐานะเงินกองทุนลดลง และ/หรือ การปรับตัวลดลงของอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อาจเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของธนาคาร

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor)

อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคารทั้ง 3 แห่ง สะท้อนถึงการที่ธนาคารทั้ง 3 แห่ง มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศไทย เนื่องจากธนาคารทั้ง 3 แห่งมีสัดส่วนทางการตลาดในระดับที่ค่อนข้างสูงที่ 15% - 20% ในด้านสินเชื่อและเงินฝาก

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุน และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

การปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญของสัดส่วนทางการตลาดของธนาคารทั้ง 3 แห่ง อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำถูกปรับลดอันดับ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของประเทศไทยอาจส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำถูกปรับลดลง

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

หุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ของ BBL มีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารอยู่ 1 อันดับ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทของธนาคารทั้ง 3 แห่ง มีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะด้อยสิทธิในโครงสร้างเงินทุน (capital structure) และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารทั้ง 3 แห่ง จะได้รับผลกระทบหากมีการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้

BBL:

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘BBB+’; แนวโน้มอันดับเคดริตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F2’
  • อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘bbb+’
  • อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ ‘2’
  • อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BBB-’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘AA(tha)’; แนวโน้มอันดับเคดริตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
  • อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ ‘BBB+’
  • อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ ‘BBB’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ ‘AA-(tha)’

SCB:

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘BBB+’; แนวโน้มอันดับเคดริตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F2’
  • อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘bbb+’
  • อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ ‘2’
  • อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BBB-’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘AA(tha)’; แนวโน้มอันดับเคดริตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
  • อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ ‘BBB+’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ระยะสั้น ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ ‘AA-(tha)’

KBank:

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘BBB+’; แนวโน้มอันดับเคดริตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F2’
  • อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘bbb+’
  • อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ ‘2’
  • อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BBB-’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘AA(tha)’; แนวโน้มอันดับเคดริตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
  • อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ ‘BBB+’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ระยะสั้น ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ ‘AA-(tha)’-กภ-