กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--PR Network
ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Thailand as World Class Health Care Provider) ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ได้กำหนดบริการทางการแพทย์ไว้ 4 ประเภท คือ บริการรักษาพยาบาล บริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ บริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทย
ในส่วนของเครือข่ายบริการที่ 6 นั้นได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานให้เป็นศูนย์สุขภาพนานาชาติ โดยเฉพาะในด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร เนื่องจากมีความพร้อมในด้านสถานที่ บุคลากรและองค์ความรู้ที่จะพัฒนาต่อยอดให้เป็น Thai Traditional Medical Hub ของประเทศได้ อาทิ โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต้นแบบ ได้แก่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลวังน้ำเย็น โรงพยาบาลวัฒนานคร และโรงพยาบาลพระปกเกล้า โรงพยาบาลที่มีการผลิตยาจากสมุนไพรให้แก่ผู้ป่วยของตน ได้แก่ โรงพยาบาลพนัสนิคม โรงพยาบาลวังจันทร์ อีกทั้งยังมีเขตที่มีการผลิตยาจากสมุนไพรที่หลากหลาย เช่น น้ำมันเหลือง น้ำสำรอง น้ำมังคุด เป็นต้น ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า “ในส่วนของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เราได้มีการดำเนินการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรมานานกว่า 30 ปี และในปัจจุบันโรงพยาบาลได้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานของโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่มีการดำเนินงานในด้านนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์เพื่อนำไปต่อยอดต่อไป และในโอกาสครบรอบ 72 ปี วันสถาปนาโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทางโรงพยาบาลจึงได้จัดให้มีงานเสวนาวิชาการ “ก้าวให้ไกล ไปให้ถึง Thai Traditional Medical Hub” ซึ่งนับเป็นกิจกรรมการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการแพทย์แผนไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันให้สามารถเป็น Thai Traditional Medical Hub ของประเทศอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลได้มีการจัดงาน “สุขภาพดีวิถีอาเซียน” ขึ้น ณ ตึกเข้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี โดยเล็งเห็นว่า ประชาชนจะสุขภาพดีหากมีความรู้ มีทัศนคติและประสบการณ์ในการเลือกใช้สมุนไพรที่ถูกต้อง เนื่องจากสมุนไพรส่วนใหญ่นั้น ไม่จำเป็นต้องซื้อ สามารถปลูกใช้เองในบ้านและชุมชนได้ และในโอกาสที่อีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงควรที่จะมีการเรียนรู้และเข้าใจการใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพของประเทศอื่นๆ ด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็มักจะมีการใช้สมุนไพรที่คล้ายคลึงกัน เช่น ขมิ้นชันแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เปลือกมังคุดใช้สมานแผล หรือแม้กระทั่งการนำสมุนไพรหลายๆ ตัวมารวมกันเป็นตำรับยาบำรุงสุขภาพ หรือที่เรียกว่า “ยาอายุวัฒนะ” ก็มีปรากฏในประเทศอื่นๆ ด้วย อาทิ พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย
ดังนั้น การเรียนรู้ชาติอื่นๆ ในอาเซียน ผ่าน วัฒนธรรมการใช้สมุนไพร ในรูปแบบอาหาร ยา และความงาม ก็จะเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมให้ประชาคมอาเซียนมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะเมื่อประชาชนมีความเข้าใจว่าแท้จริงแล้วเราเป็นพี่น้องกัน มีรากทางวัฒนธรรมเดียวกัน มีทรัพยากรคล้ายกัน แทนที่จะฉกฉวยโอกาสในการแข่งขัน ควรที่จะมาร่วมมือกัน โดยเฉพาะ “สมุนไพร” นั้น เรามีทั้งแหล่งทรัพยากรทางชีวภาพ มีประสบการณ์การใช้จากบรรพบุรุษ อีกทั้งในปัจจุบันยังมีระบบสนับสนุนการวิจัยที่มีศักยภาพอีกด้วย ภายในงาน “สุขภาพดีวิถีอาเซียน” ได้มีการรวบรวมกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจไว้มากมาย อาทิ
วีถีสุขภาพอาเซียน การสาธิต ทดลองทำ และบรรยายเกี่ยวกับการนำอาหารสุขภาพของอาเซียนไปใช้ประโยชน์ อาทิ ข้าวหมาก ยาหมู่ชูกำลัง และโปรไบโอติกส์สไตล์อาเซียน
วิถีผักพื้นบ้านอาเซียน ตลาดของเกษตรกรผู้ปลูกผักพื้นบ้านปลอดสารพิษที่มีการใช้ร่วมกันในอาเซียน อาทิ บัว ตาล กล้วย และไผ่ และอาหารพื้นบ้านหายาก อาทิ ขนมสายบัว ผักดองแบบดั้งเดิม
วิถีเส้น...สายอาเซียน การให้ความรู้ ความเป็นมา ประโยชน์ และความหลากหลายของอาหารเส้นในอาเซียน พร้อมชิมอาหารเส้น และผักพื้นบ้านหลากหลายชนิด
สวนสมุนไพรอาเซียน การรวบรวมสมุนไพรที่ใช้ร่วมกันในอาเซียน และดอกไม้ประจำ 10 ชาติในอาเซียน อาทิ ราชพฤกษ์ ลั่นทม ลำดวน มาไว้ด้วยกันและให้ความรู้โดยวิทยากร
นวดถวายเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บริการนวดแก้อาการโดยอาจารย์หมอนวดจากทุกภาคของประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อบรม "แม่ดูแลพ่อเกิดก่อครอบครัวแข็งแรง" ร่วมฝึกทักษะการนวดแบบง่ายๆให้ภรรยา 72 คน เพื่อนำไปใช้บรรเทาอาการต่างๆ
วิถีทุ่งบางเดชะ ศูนย์เรียนรู้สมุนไพรพืชน้ำอาเซียน ร่วมรับฟังเรื่องราวคุณค่าทางยา ทางโภชนาการ และเศรษฐกิจของสมุนไพรพืชน้ำ ตลอดจนการทดลองแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรพืชน้ำ
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โทร 037-211-289
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit