กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่ถกแผนเร่งโซนนิ่ง 8 จังหวัดกลุ่มอีสานตอนบน ดึงจ.กำแพงเพชรต้นแบบการปรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปีสู่การปลูกอ้อยตามศักยภาพพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ จี้หน่วยงานในสังกัดร่วมบูรณาการเร่งส่งเสริมเกษตรกร หวังชี้ทางเลือกการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่บนพื้นฐานความสมัครใจเกษตรกร
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ จ.สกลนคร เพื่อประชุมติดตามงานโครงการที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม มุกดาหาร สกลนคร อำนาจเจริญศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี และกำแพงเพชร เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลคือ การจัดเขตเกษตรเศรษฐกิจหรือโซนนิ่ง ที่มีเป้าหมายเพื่อให้การผลผลิตทางการเกษตรเกิดความสอดคล้องกับการตลาด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พบว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพการของพื้นที่ทั้งประเทศถึงกว่า 20 ล้านไร่
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จะต้องเข้าไปดำเนินการแนะนำให้ความรู้กับเกษตร เพื่อเป็นทางการเลือกในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก เช่น ในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดได้ทำโครงการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ที่ถือเป็นจังหวัดต้นแบบในการจัดทำโซนนิ่งในการปลูกอ้อย เนื่องจากมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกอ้อยถึงกว่า 3 แสนไร่ และมีปริมาณความต้องการผลผลิตอ้อยป้อนเข้าสู่โรงงานในพื้นที่อีกมาก โดยทางจังหวัดได้จัดทำแผนการเชื่อมโยงแหล่งรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร มาตรการต่างๆที่จะเป็นแรงจูงใจที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อเกษตรกรที่จะหันมาเปลี่ยนการเพาะปลูกตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ
นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้จะเป็นการปรับระบบความคิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในกลุ่ม 8 จังหวัดภาคอีสานตอนบนให้เกิดความรู้ความเข้าใจและทิศทางการดำเนินนโยบายโซนนิ่งที่ถูกต้อง โดยที่จะใช้โมเดลของจังหวัดกำแพงเพชรเป็นตัวอย่าง ทั้งสินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ ตามศักยภาพความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การให้ข้อมูลทางวิชาการและชี้ถึงประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรพิจารณาในการทำการเกษตรที่จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ซี่งกระทรวงเกษตรฯ เน้นย้ำว่านโยบายโซนนิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ แต่จะดำเนินการภายใต้ความสมัครใจของเกษตรกรเป็นสำคัญ-นท-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit