กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก. เรื่อง การผลักดันกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางน้ำ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี
คปก.ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า กฎหมายภายในของประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพาณิชยนาวี หรือการขนส่งทางน้ำยังไม่ครอบคลุมและไม่สอดคล้องกับหลักสากล แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททางด้านพาณิชยนาวีแต่ก็ยังเป็นกฎหมายที่ยังไม่มีความสมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อมีคดีเกิดขึ้นในศาลไทย ผู้พิพากษาจึงนำหลักเกณฑ์ทั่วไปของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น กฎหมายลักษณะนิติกรรมและละเมิด มาใช้บังคับกับคดีซึ่งไม่ครอบคลุมและทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ส่วนในบางกรณีแม้มีกฎหมายภายในที่นำกฎหมายระหว่างประเทศมาใส่ไว้ในกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นการนำมาใช้เฉพาะบางส่วนซึ่งไม่ครบถ้วนและไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในกฎหมายระหว่างประเทศ
ทั้งนี้การมีกฎหมายพาณิชยนาวีที่ยังไม่ครบถ้วนและไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดผลเสียต่อการประกอบธุรกิจพาณิชยนาวี ส่งผลกระทบต่อการขนส่งระหว่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศของไทยในหลายเรื่องเช่น การยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือประเภทต่างๆ ผู้ประกอบการท่าเรือ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้ต้องรับผิดตามความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงกว่าผู้ประกอบการต่างชาติที่มีกฎหมายในเรื่องนี้ หรือการที่ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดให้เจ้าหนี้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศสามารถกักเรือได้ในประเทศไทย จะทำให้เจ้าของเรือไทยถูกจำกัดให้ไม่สามารถหาสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศได้ ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจพาณิชยนาวีไทยเสียเปรียบในการแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจพาณิชยนาวีต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มสมาชิกอาเซียนหรือผู้ประกอบการในประเทศอื่นๆ ที่มีกฎหมายพาณิชยนาวีที่พัฒนาได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เห็นสมควรให้มีการผลักดันกฎหมายขนส่งทางน้ำ โดยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและการบัญญัติกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการพาณิชยนาวีของประเทศ จึงเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางน้ำ 4 ฉบับ ได้แก่
1. ร่างพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. .... (ฉบับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม)
2. ร่างพระราชบัญญัติการกักเรือ พ.ศ. .... (ฉบับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม)
สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิด คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นด้วยในแนวทางและหลักการเบื้องต้นที่จะผลักดันให้มีกฎหมาย แต่ในส่วนรายละเอียดของร่างกฎหมายมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต ได้แก่
3.กฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดเพื่อสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือเดินทะเล และ
4. กฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งของผู้ประกอบการท่าเรือเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ของที่ขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ
ทั้งนี้การผลักดันกฎหมายทั้ง 4ฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมและคุ้มครองผู้ประกอบการ ช่วยในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ ช่วยในด้านการพัฒนาระบบกฎหมายพาณิชยนาวีทั้งระบบให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งส่งผลในส่วนของการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศของไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit