กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระดมสรรพกำลังผลักดันให้ภาคเอกชนพัฒนาตนเองร่วมกับสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม 9 สถาบัน ภายใต้แผนแม่บท ผุดโครงการพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบแปรรูปไม้สัก เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพด้านการผลิตและลดต้นทุนการผลิต รองรับสถานการณ์การแข่งขันในตลาดโลก
ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศอ. ได้ผลักดันให้ภาคเอกชนมีการพัฒนาตนเอง ร่วมกับสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม 9 สถาบัน (สถาบันไทย-เยอรมัน, สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สถาบันยานยนต์, สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ, สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย, สถาบันอาหาร) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม และแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา เพื่อเป็นการยกระดับประสิทธิภาพด้านการผลิต การบริหารจัดการ เทคโนโลยี ด้านมาตรฐาน รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการนำความรู้สมัยใหม่ งานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต งานพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบ และการออกแบบ/พัฒนาผลิตภัณฑ์เดิม และผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นรากฐานการเติบโตของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ และจะนำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551-2555 ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนกว่า 1,500 ล้านบาท ให้ดำเนินโครงการ 149 โครงการ
โดยโครงการพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สัก เป็นอีก 1 โครงการภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ซึ่ง สศอ. ได้ร่วมมือกับสถาบันไทย–เยอรมัน จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สัก จากการศึกษา พบว่า อุตสาหกรรมแปรรูปไม้สักขนาดเล็กของไทย มีการใช้เครื่องจักรกลพื้นฐานแบบแยกส่วนในการผลิตสินค้าแต่ละชนิดตามขั้นตอนของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจำเป็นต้องมีเครื่องจักรกลจำนวนมากทำให้ต้นทุนสูง อีกทั้งต้องใช้พื้นที่ในการจัดวางเครื่องจักรกล รวมถึงใช้เวลามากในกระบวนการผลิตสินค้า สศอ. จึงได้ร่วมกับสถาบันไทย–เยอรมัน ศึกษาแนวทางในการพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบในการแปรรูปไม้สัก ที่สามารถลดขั้นตอนการผลิตโดยรวมฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ในเครื่องเดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการที่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มและใช้กับที่ในการผลิตร่วมกัน ได้มีโอกาสใช้เครื่องจักรกลการแปรรูปและผลิตที่มีประสิทธิภาพในราคาต้นทุนไม่สูงมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองระบการแข่งขันในตลาดโลก
นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชกุล ผู้อำนวยการสถาบันไทย–เยอรมัน (TGI) กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สักได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของ สศอ. โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงาน คือ ศึกษาแนวทาง กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปไม้สักและเครื่องจักรกลพื้นฐานร่วมกับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สัก ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ตาก กำแพงเพชร เพื่อให้การดำเนินงานตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และสามารถลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สักในแต่ละขั้นตอนได้จริง หลังจากนั้นจึงออกแบบ และผลิตจนเกิดเป็นเครื่องจักรกลต้นแบบจำนวน 3 เครื่อง ดังนี้
1. เครื่องจักรเพื่อการเตรียมและแปรรูปไม้สัก ซึ่งมีการรวมฟังก์ชันการทำงานต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับกระบวนการเตรียมและแปรรูปทั้ง 5 กระบวนการไว้ในเครื่องเดียว ได้แก่ การตัด การไสขนาด การไสชิด การเจาะ-เซาะร่อง และการตีฟัน เพื่อประหยัดพื้นที่ทำงานและลดต้นทุนการผลิต โดยผู้ประกอบการสามารถปรับฟังก์ชันการทำงานตามกระบวนการที่ต้องการได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งเครื่องจักรดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดเงินลงทุนในการซื้อเครื่องจักรได้กว่า 26% อีกทั้งสามารถประหยัดพื้นที่การทำงานได้กว่า 50 %
2. เครื่องจักรอัดเพลาะและต่อไม้แบบร้อน-เย็น เป็นเครื่องที่ช่วยผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพของการต่อไม้ทั้งในรูปแบบของการต่อไม้แบบปกติและแบบอัดเพลาะ โดยมีฟังก์ชันให้เลือกใช้งานแบบใช้ความร้อนหรือแบบสภาวะอุณหภูมิปกติ ตามลักษณะของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท ซึ่งเครื่องจักรดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดเงินลงทุนในการซื้อเครื่องจักรได้กว่า 40% อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการเพลาะไม้ได้ครึ่งหนึ่ง
3. เครื่องจักรเพื่อการขึ้นรูปอเนกประสงค์ ควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องกัดขึ้นรูปบนผิวไม้ ใช้สำหรับกระบวนการทำลวดลายต่างๆ ลงบนผลิตภัณฑ์ โดยผู้ใช้สามารถเลือกลวดลายที่ต้องการและสั่งงานผ่านคอมพิวเตอร์ ตัวเครื่องจักรจะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติจนสำเร็จตามแบบ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเครื่องจักรดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดเงินลงทุนในการซื้อเครื่องจักรถึงกว่า 37% อีกทั้งยังช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในการผลิต สร้างความหลากหลายตามงานมาตรฐานในการขึ้นรูป โดยสามารถกำหนดระยะเวลาในการขึ้นรูปลวดลายซับซ้อนได้แน่นอนอีกด้วย
“ผลการดำเนินงานของโครงการฯ นับว่าได้ผลเป็นที่พอใจ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและลดต้นทุนการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเครื่องจักรกลต้นแบบ จะช่วยลดความยุ่งยาก และลดระยะเวลาในกระบวนการผลิตให้น้อยลง และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนารูปแบบการแปรรูปไม้สักได้หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สัก นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สัก ซึ่งนับจากนี้ทางสถาบันฯ และ สศอ. จะนำเครื่องจักรต้นแบบเหล่านี้ไปประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สักนำมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากยิ่งขึ้น ภายใต้ต้นทุนที่ลดลงจากเดิม รวมทั้งเป็นการพัฒนารูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ให้มีความหลากหลาย รองรับความต้องการของตลาดโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการส่งเสริมการส่งออก และช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย” นายจิรศักดิ์กล่าวในที่สุด
-กผ-